ภาวิตเริ่มต้นการสนทนาด้วยการอัพเดทโครงสร้างการทำธุรกิจของ GMM Grammy ในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้บริษัทแม่แบ่งโครงสร้างธุรกิจ ออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ คือ MUSIC, GMM MEDIA, GMM ONE และMOVIE & OTHERS ซึ่งทำให้ทีมงานอดสงสัยไม่ได้ว่า ธุรกิจไหนคือ ประตูบานใหญ่ของบ้านหลังนี้?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภาวิต อธิบายว่า Branding ของ GMM Grammy ยังคงเป็นประตูบานใหญ่ที่ทุกคนรับรู้ เพียงแต่ว่าการที่ใครแต่ละคนจะเดินเข้ามาในบ้านหลังนี้ในปัจจุบันจะเป็นแบบ Specialization
“คนที่สนใจเพลงก็จะมอง Grammy Music ถ้าคนสนใจดูทีวีประตูบานใหญ่ก็คือช่อง 25 หรือช่อง One 31 ถ้าอยากจะเดินเข้าไปในส่วนของภาพยนตร์ หรือ Series GDH ก็เป็นประตูบานใหญ่เหมือนกัน แต่ถ้าพูดเรื่องผลกำไรต้องบอกว่า Grammy Music ยังเป็นตัวทำรายได้สูงสุด
วิธีการบริหารงานของคุณไพบูลย์ผมมองว่ามีความน่าสนใจมาก คุณไพบูลย์จะใช้วิธีการแตกธุรกิจใหม่ หรือคลอดลูกคนใหม่ที่มีความแข็งแรงออกมา พอลูกคนนี้แข็งแรงเติบโตบินได้ด้วยตัวเองก็จะคลอดลูกคนใหม่ออกมาอีก ตรงนี้คือแนวทางการทำธุรกิจของ GMM Grammy ในปัจจุบัน”
ลงลึกไปในรายละเอียดของ GMM Music ที่ภาวิตดูแลโดยตรง
CEO GMM Music กล่าวว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา Core Product ของบริษัทพัฒนาและเติบโตไปในทางที่ดี แม้ว่าธุรกิจจะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีก็ตาม ซึ่งในปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ GMM Music ต้องเจอก็เหมือนกับอีกหลายๆ บริษัทในประเทศไทยที่ต้องต่อสู้กับคำว่า Disruption
“การเปลี่ยนแปลงขององค์กรที่ต้องเจอก็คือ มีธุรกิจบางยูนิตที่เป็นขาลง สิ่งที่ผมบอกว่า Grammy Music เติบโตไปในทางที่ดีหมายความว่า ธุรกิจที่ต้องหดตัวลงตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เราพยายามประคองให้หดตัวช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรารู้ว่ายังไงก็ตามธุรกิจนี้ต้องถอยลง
นักข่าวหลายคนถามผมว่าธุรกิจ CD ตายแล้วเราจะทำรายได้จากตรงไหน ผมก็ต้องอธิบายว่าในความเป็นจริงธุรกิจ CD ที่กำลังจะตายเนี่ยก็ถูก แค่จะเท่านั้นแต่ยังไม่ได้ตาย เราเรียก CD ว่าเป็น Physical Product ปัจจุบันเราเปลี่ยนจาก CD มาขาย MP3 ซึ่งยอดขายเพลงผ่าน MP3 ทำรายได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี สำหรับผมมองว่าไม่น้อย”
พบว่าในปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจที่เติบโตของ GMM Music ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นก้าวที่สำคัญของบริษัทก็คือ กลุ่มดิจิทัล เพราะหมายความว่า การสร้าง Engagement กับผู้บริโภคในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงให้ได้รับความนิยม ได้ยอดวิวสูงๆ, การสร้างได้รายได้จาก Revenue Share, การผลิตเพลงเพื่อธุรกิจ, เอาคลังเพลงที่มีอยู่ไปค้าขาย ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีการเติบโตถึง 28%
“สำหรับผมถือว่าน่าพอใจ เพราะเรามองว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Media อย่างไรก็ต้องเติบโต ถ้าส่วนนี้เติบโตแบบติดลบ ผมมองว่าผิด ในโครงสร้างความเป็นจริง และการเติบโตเป็น Volume ผมถือว่าโตมากๆเมื่อเทียบกับตลาด”
ภาวิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำเพลงที่มีคุณภาพ ทำให้กลุ่มธุรกิจที่ 2 และ 3 เติบโตตามไปด้วย ธุรกิจที่ 2 นี้ก็คือ Sponsorship และงานจ้างที่มีการเติบโตประมาณ 50% ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ 3 ก็คือ Showbiz และ Festival ที่สร้างรายได้สูงขึ้นประมาณ 70% ในปีที่ผ่านมา
“สิ่งที่เราทำในปีแรกก็คือ การปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากๆ ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านที่ช่วยกันประคับประคองในช่วงที่เราปรับแต่งโครงสร้างองค์กรเป็นไปได้ด้วยดี การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรครั้งนี้คืออะไร อยากให้ลองหลับตานึกภาพบริษัทที่ทำธุรกิจเพลงมา 34 ปี ที่ผ่านมาย่อมมีโครงสร้างที่คุ้นชินกับการสร้างรายได้ กับการยึดติดกับธุรกิจเดิมๆ แบ่งออกเป็นแขนงมากมาย 40-50 แผนก
สิ่งที่เราทำก็คือปรับโครงสร้างให้เป็น One PNL ซึ่งค่อนข้างจะสอดคล้องกับโครงสร้างสากลของโลก หรือไม่ว่าบริษัทคุณจะซับซ้อนอย่างไรท้ายที่สุดแล้วจะต้องเป็น One PNL ซึ่งผมเชื่อว่าในธุรกิจโฆษณาอนาคตก็จะต้องเป็นแบบนี้ คือมีช่วงจังหวะหนึ่งเราเป็น One Centralize ถึงจุดหนึ่งเราก็ Decentralized แยกออกเป็นบริษัทมากมาย เป็นกลุ่มมีเดีย, กลุ่มดิจิทัล, กลุ่ม Creative Agency, กลุ่ม Activation ท้ายที่สุดแล้ววันหนึ่งเราก็ต้องกลับมารวมกันเป็น One PNL ที่ GMM Grammy ก็เช่นกัน แต่เดิมเราเป็นลักษณะนั้น เราเปิดบริษัทแยกออกไปเต็มไปหมด แต่หลังๆ เราก็รวมศูนย์กลับมา นี่คือการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของเรา เราปรับโครงสร้างใหม่แล้วเติมคนที่มีความเชี่ยววชาญเฉพาะด้านเข้ามา”