“Design” เข้ามาเป็นตัวช่วยทำให้การใช้กลยุทธ์ Differentiation มีความโดดเด่นมากขึ้น
เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันแสวงหาความพิเศษ ความเป็นปัจเจก แตกต่างไปจากคนทั่วไป ซึ่งงาน “Design” จะเข้ามามีบทบาทในการสะท้อนรสนิยม Lifestyle ของพวกเขา
ไม่เพียงเท่านั้น ความพิถีพิถันของงาน Design ยังสะท้อนไปถึงคนที่ใช้สินค้านั้นๆ ว่าเป็นคนที่มีระดับ หรือแบ่งแยกตัวเองออกจากกลุ่มเป้าหมายรวมของคนทั่วไปอย่างไร
“Design” ถือกำเนิดมาพร้อมๆ กับคำว่า “ธุรกิจ” ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม จวบมาจนถึงในยุคปัจจุบัน จะแตกต่างกันก็เพียงแค่ว่า “Design” มีอิทธิพลมาก หรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา จากเมื่อก่อนนวัตกรรมการผลิตเรียกได้ว่าเป็น Key หลักในการสร้างความต่าง สร้างมูลค่าเพิ่ม และก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตกลับไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้ใครๆ ก็สามารถไล่ตามกันทันในเวลาชั่วพริบตา จนทำให้สินค้าแต่ละแบรนด์แทบหาความต่างกันไม่เจอ นักการตลาดจึงต้องหันกลับมาพิจารณาเรื่องการออกแบบมากขึ้น
“Design” กลับกลายเป็นสิ่งที่จะเข้ามาวัดผลแพ้ชนะของการแข่งขันในทุกสนามแข่ง และท้ายที่สุดแล้ว “Design” นี่แหละจะเป็นตัวเพิ่มมูลค่าอย่างมหาศาลให้กับสินค้าของแบรนด์ต่างๆ
Design ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่แทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ Living Product เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งในแวดวงค้าปลีก ที่นำเรื่องของดีไซน์เข้ามาใช้เป็นตัวต่อยอดในการสร้างความสำเร็จให้กับการทำตลาด
หากมองถึงพลังที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนแบรนด์แล้ว จะพบว่า คงหนีไม่พ้นที่จะมีเรื่องของนวัตกรรม และตัวดีไซน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยนวัตกรรมเป็นตัวช่วยเข้ามากระตุ้นให้ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ถึงวิวัฒนาการของแบรนด์
ขณะที่ตัวดีไซน์จะเข้ามาตอบโจทย์ และสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้บริโภค ที่สำคัญ ยังเข้ามาเป็นตัวช่วยสร้างในเรื่องของความแตกต่างด้านอารมณ์ที่ถือเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยสร้างความสำเร็จให้กับการทำตลาด
แบรนด์ชื่อดังของโลกต่างมีเรื่องของการนำดีไซน์เข้ามาเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างแต้มต่อในการทำตลาดแทบทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะกล่าวว่า ดีไซน์ได้เข้ามามีอิทธิพลอยู่รอบตัวของผู้บริโภคที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว