ความแตกต่างที่จับต้องได้ของตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในปัจจุบันกับเมื่อครั้งที่โออิชิเข้ามาเปิดตลาดด้วยการขายในรูปแบบบุฟเฟ่ต์เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมาก็คือ การเลือกรับประทานอาหารญี่ปุ่นของคนไทย ไม่ได้เป็นแค่โอกาสพิเศษ หรือการเฉลิมฉลองให้รางวัลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่การรับประทานอาหารญี่ปุ่นในปัจจุบัน ได้กลายมื้อปกติของคนไทยไปแล้ว เนื่องจากการมีรูปแบบของร้านอาหารญี่ปุ่นที่หลากหลาย ตลอดจนมีการนำเสนอราคาที่สามารถจับต้องได้ ทำให้เป็นเรื่องปกติที่คนไทยจะเลือกเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นเมื่อต้องการอยากจะบริโภค หรือถูกกระตุ้นให้เกิดการอยากบริโภค
ทั้งนี้ เป็นเพราะคนไทยกับการรับประทานอาหารญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำให้การบริโภคอาหารญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองใหญ่ แต่ยังแพร่ขยายออกไปยังหัวเมืองขนาดเล็ก ซึ่งกลายเป็นโอกาสทางการตลาดชั้นดีของผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดนี้อย่างโออิชิ และด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ นำมาสู่การปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เปลี่ยนไป ทำให้เราได้เห็นการรุกออกไปเปิดสาขานอกศูนย์การค้า หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตของโออิชิ รวมถึงการรุกออกไปเปิดสาขาในจังหวัดขนาดเล็กที่เป็นเทียร์ 2 เทียร์ 3 หรือที่เป็นอำเภอขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นการเข้าไปสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ในพื้นที่ที่มีดีมานด์ แต่ยังขาดซัพพลาย
ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกกับเราว่า โออิชิ เริ่มมีการขยายสาขาของชาบูชิ ออกไปยังจังหวัดขนาดเล็กมากขึ้นในปีนี้ ส่วนในปีหน้าก็ยังคงมีแผนการขยายสาขาของร้านอาหารในเครือเพิ่มขึ้นอีก 19 สาขา โดยจะมีทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการเปิดสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลนมากขึ้น
ก่อนหน้านั้น ร้านชาบูชิจะมีขนาดของพื้นที่ประมาณ 350 ตารางเมตร ก่อนที่จะมีการปรับไซส์ลงมาเหลือ 200 ตารางเมตรเพื่อให้แมตช์กับขนาดของศูนย์การค้าที่เข้าไปเปิด ล่าสุดมีการส่งร้านที่เป็นฟอร์แมตขนาดไซส์เล็ก 160 ตารางเมตรออกมาเพื่อรุกไปยังจังหวัดขนาดเล็ก อย่างการเข้าไปเปิดสาขาของชาบูชิที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งการมีบริษัทในเครือไทยเบฟด้วยกันอย่างบิ๊กซีเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะขยายสาขาออกไปในจังหวัดเทียร์ 2 และ เทียร์ 3 รวมถึงอำเภอขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการเติบโตที่ดี