ทุกคนในบ้านจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเริ่มขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การผัดข้าวเหนียว ฉีกใบตอง ไปจนถึงการห่อและนึ่ง โดยแบ่งหน้าที่กันไปตามความชำนาญ การห่อขนมจะต้องให้มีขนาดที่เท่ากันทุกชิ้น และไม่ใช้เชือกรัด แต่จะใช้วิธีการจัดเรียงลงบนหม้อซึ้งให้แน่นก่อนจะนำไปนึ่ง ทำให้ขนาดของข้าวต้มมัดพอดีคำเป็นเอกลักษณ์ และง่ายต่อการรับประทาน
คุณยายฟูเริ่มทำข้าวต้มมัดโดยมีลูกสาวเป็นผู้ช่วย เริ่มจากวันละ 80 ชิ้น บวกกับยังคงทำขนมอื่น ๆ หาบเร่ขายที่สวนลุมเหมือนที่เคย จนเวลาผ่านไป บางกอกแอร์เวย์สเป็นสายการบินที่เติบโตขึ้น ปริมาณของข้าวต้มมัดที่ต้องทำต่อวัน จึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย คุณยายจึงหยุดขายหาบเร่ และหันมาทำข้าวต้มมัดส่งให้กับบางกอกแอร์เวย์สโดยมีทั้งรุ่นลูกและหลานเป็นลูกมือที่แข็งขัน จนมาถึงปัจจุบัน คุณยายฟูมีอายุมากขึ้น จึงได้ถ่ายทอดเคล็ดลับการทำข้าวต้มมัดให้ได้สืบสานต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น
ปัจจุบันครอบครัวของคุณยายฟูจะต้องทำข้าวต้มมัดส่งให้กับบางกอกแอร์เวย์ส เฉลี่ย 4,000 ชิ้น ต่อวัน จึงกลายเป็นโรงงานขนาดย่อมๆ ที่มีทุกคนในครอบครัวมาช่วยกันทำข้าวต้มมัด แบ่งหน้าที่ แบ่งรายได้กันอย่างเท่าเทียม เกิดเป็นธุรกิจภายในครอบครัว และมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง สม่ำเสมอ และยังส่งต่อโอกาสนี้ไปยังเกษตรกรที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบต่างๆ อีกด้วย
จากขนมหาบเร่เล็กๆ จนกลายเป็นธุรกิจที่มั่นคงของครอบครัว นอกจากความเป็นเอกลักษณ์ของห้องรับรองผู้โดยสารที่ใครๆ ก็ติดใจ ข้าวต้มมัดคุณยายฟูยังเป็นเสมือนสายใยที่ผูกพันอย่างเหนียวแน่นระหว่างผู้ประกอบการเล็กๆ กับธุรกิจใหญ่ที่จะเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ เป็นความสำเร็จที่ WIN WIN ไปด้วยกัน ฝั่งหนึ่งคือความพิถีพิถันใส่ใจ อีกฝั่งหนึ่งคือความจริงใจ ให้โอกาสและทำธุรกิจร่วมกันบนพื้นฐานจริยธรรม จึงกลายเป็นความมั่นใจในกันและกันตลอดมา
ท่ามกลางขนมหลากชนิดอย่างพาย เค้ก และแซนด์วิช ขนมห่อใบตองที่เรียกว่าข้าวต้มมัดยังคงโดดเด่นอยู่ในมุมนั้น ผิวเหลืองนวลของใบตองที่หุ้มห่อความหวานของไส้กล้วย ความหอมจากกะทิ ข้าวเหนียวผสมถั่วดำที่ตรึงใจเมื่อได้สัมผัสลิ้น เรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวคุณยายฟูและบางกอกแอร์เวย์สตลอดไป