ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ กรณีของรถยนต์คลาสสิกอย่าง Volkswagen Beetle หรือรถเต่าที่เราคุ้นเคยกันดี ก็มีต้นกำเกิดมาจากการที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ต้องการสร้างรถยนต์ขึ้นมาใช้งานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเยอรมันให้ทัดเทียบกับคนอเมริกัน และได้ ดร.เฟอร์ดินานด์ ปอร์เช่ เป็นผู้ออกแบบและพัฒนารถขึ้นมา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เรียบง่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งในการผลิตและซ่อมบำรุง
ไม่นานนักรถต้นแบบคันแรกก็ถูกผลิตออกมา และถูกตั้งชื่อเป็นภาษาเยอรมันว่าโฟล์คสวาเกน หรือรถสำหรับประชาชน ซึ่งหลายปีต่อมาเจ้าเต่าทองตัวนี้ ก็กลายเป็นรถที่ขายดีที่สุดในโลกอยู่พักใหญ่ และเป็นรถที่ถูกพูดถึงมาจนปัจจุบัน
จนในปี 1988 โฟล์คสวาเกน ก็ตัดสินใจนำเอารถในตำนานอย่าง Volkswagen Beetle มาปัดฝุ่นเสียใหม่
แม้ว่า Volkswagen New Beetle จะเอาเทคโนโลยีทางด้านยานยนต์สมัยใหม่ใส่เข้าไป อาทิ ใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า และวางเครื่องไว้ที่ด้านหน้า รวมถึงมีการเพิ่มระบบความปลอดภัยใหม่ๆ อย่างถุงลมนิรภัยเข้าไป เป็นต้น
ถ้าเปรียบเทียบแล้ว Volkswagen New Beetle มีความต่างกับรถโฟล์ครุ่นเดิมอย่างชัดเจนในเรื่องของเทคโนโลยี แต่ที่โฟล์คสวาเกน ยังคงไว้ก็คือ รูปร่าง รูปทรง และประสบการณ์ของโฟล์คเต่าทองที่คนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ยังสามารถสัมผัส และหวนระลึกไปถึงอดีตได้
ผลก็คือ New Beetle ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า...เฉพาะในอเมริกาประเทศเดียว New Beetle มียอดขายเกินกว่า 500,000 แล้ว
ในบ้านเราเองช่วงเปิดตัว New Beetle ค่ายยนตรกิจก็ใช้วิธีการประมูลรถแทนการขายปกติ เนื่องจากได้รถมาจำหน่ายเพียง 100 คัน จากที่ขอไป 500 คัน
นอกจาก New Beetle แล้ว ก็ยังมีกรณีศึกษาของผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายค่าย อาทิ มินิ, เฟียต, อัลฟ่า โรมิโอ ที่มีการหยิบเอากระแส Retro Nova มาใช้ด้วยการดึงเอารถคลาสสิกมาผลิตใหม่อย่างได้ผล หรือจะเป็นกรณีศึกษาของรถ ยามาฮ่า ที่อาศัยจังหวะที่คู่แข่งในตลาดมอเตอร์ไซค์ยังไม่มีใครเห็นช่องว่างนี้ จึงเปิดตัวรถออโตเมติกอย่างยามาฮ่า ฟีโน่ เป็นรายแรก ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับอย่างถล่มทลาย จนเจ้าตลาดต้องหาทางแก้อยู่นานสองนาน กว่าจะตั้งลำได้
ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าก็เป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่มีการออกแบบสินค้ารุ่นพิเศษในสไตล์ Retro Nova ขึ้นมา เพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ต้องการ อย่างค่าย SMEG ที่มีการวางกลุ่มสินค้าออกไปตามดีไซน์ที่แตกต่างกัน อาทิ Linear, Classic, Retro, Contemporary เป็นต้น