มาเริ่มกันที่ฝั่งวิชาการ โดย ดร.วรินรำไพ รุ่งเรืองจิตต์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขยายความถึงความแตกต่างของการตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยแยกประเด็นคือ
มองว่า การตลาด คือ การเคลื่อนย้ายสินค้า หรือบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย ขึ้นระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยผ่านเครื่องมือทางการตลาด หรือกิจกรรมทางการตลาด อันได้แก่ การโฆษณา (Advertising) การประชาสัมพันธ์ (PR) การส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) กิจกรรมพิเศษทางการตลาด (Event Marketing) หรือการตลาดทางตรง (Direct Marketing) เพื่อทำให้สินค้า หรือบริการนั้นๆ ไปถึงมือผู้บริโภค และเพื่อตอบสนองความต้องการ หรือความพึงพอใจของผู้บริโภค และในขณะเดียวกันก็ต้องบรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ คือ การสร้างกำไรอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม"
ดังนั้นจากนิยามของคำว่าการตลาด จะเห็นได้ว่าการประชาสัมพันธ์ (PR) นั้นเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาด หรือกิจกรรมทางการตลาดนั่นเอง
ส่วนการประชาสัมพันธ์ คือ "การประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการตลาดที่มุ่งเน้นการบอกข่าวสารใหม่ๆ ของกิจการ หรือบอกเล่าสิ่งดีๆ ของกิจการที่ได้กระทำให้ลูกค้า หรือบุคคลภายนอกรับทราบ รวมถึงการแจ้งข่าวสารเพื่อแถลงเหตุการณ์วิกฤต หรือเหตุการณ์ไม่ดีที่กิจการไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นให้แก่ลูกค้า หรือบุคคลภายนอกรับทราบ"
ต่อมาถ้ามองในเรื่องของวัตถุประสงค์ของการทำการตลาด และวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์ เราทำการตลาดเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า (Customer Insight) และนำมาพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อตอบโจทย์ปัญหา (Customer Pain Point) ที่ลูกค้าพบเจอจากการใช้งาน หรือจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยสินค้าหรือบริการที่พัฒนาขึ้นมานั้นควรมีคุณค่า (Value) มีความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งขัน (Differentiation) เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงที่สุด (Customer Satisfaction)"
แต่นอกเหนือจากการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ และโดนใจของลูกค้าแล้วเท่านั้นยังไม่พอ เพราะหากกิจการมีสินค้าที่ดี แต่ลูกค้าไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อเสียง ไม่เคยได้ทดลองใช้งาน ไม่มีความเชื่อถือ หรือไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้า ก็จะไม่เกิดการทดลองใช้ และไม่เกิดกระบวนการซื้อ ดังนั้น วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการทำการตลาดที่สำคัญในลำดับถัดมา คือ กิจการต้องสร้างการรับรู้ (Awareness) เพื่อให้ลูกค้ารู้จักสินค้าหรือบริการของเรา อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าลูกค้าจะรู้จัก และมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าของเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อสินค้าเรา "แค่รู้จักเรา แต่ยังไม่ได้สนใจเรา”
ในบรรดาสินค้ากลุ่มเดียวกันที่มีหลายยี่ห้อ คำถามคือ ลูกค้ามีความสนใจ หรือชื่นชอบในสินค้าเราหรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกค้าชื่นชอบ สนใจ และพอใจในสินค้าหรือบริการของเรา (Liking & Preference) นี่จึงเป็นวัตถุประสงค์ของการทำการตลาดที่สำคัญในลำดับถัดมา"
ถึงแม้ลูกค้าจะพอใจ และสนใจสินค้าเรา แต่ลูกค้าก็ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกเรา เพราะหากคู่แข่งเสนอเงื่อนไข โปรโมชั่น หรือสิ่งที่ดีกว่า น่าสนใจกว่า ลูกค้าอาจจะเปลี่ยนใจเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการทำการตลาดในขั้นนี้คือ การชักจูงใจลูกค้าเพื่อให้ตัดสินใจซื้อสินค้าของเรา เป็นการชักจูงให้ลูกค้าเลือกเราไม่เลือกคนอื่น (Conviction)
นั่นเป็นเพียงวัตถุประสงค์ของการทำการตลาดสำหรับสินค้าใหม่ และกลุ่มลูกค้าใหม่เท่านั้น หากกิจการต้องการรักษาฐานลูกค้าเดิม เพื่อให้กลับมาซื้อซ้ำ ให้ลูกค้าบอกต่อ หรือแนะนำเพื่อนๆ คนรู้จักมาซื้อสินค้า วัตถุประสงค์ในขั้นนี้ คือ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า (Customer Relationship)
แต่สำหรับในยุคสมัยปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ประกอบกับพฤติกรรมลูกค้า การเข้าถึงสื่อ หรือช่องทางการซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การจะสร้างให้เกิดความจงรักภักดีอย่างเดียวในยุคปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว
ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการทำการตลาดในขั้นนี้ กิจการควรสร้างลูกค้าเกิดความรักต่อสินค้า หรือตรายี่ห้อ (Brand Love) รวมถึงการสร้างให้เกิดเป็นสาวก แฟนคลับ เกิดความลุ่มหลง คลั่งไคล้ในแบรนด์ (Brand Passion) แบบที่ถ้ามีใครมาด่าสินค้าเรา สาวกเหล่านี้จะออกมาปกป้อง เป็นกระบอกเสียงแทนกิจการ ด้วยวิธีการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ทำตัวเป็นองค์กรที่ดี มีความจริงใจต่อผู้บริโภค ใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน เป็นต้น
ยกตัวอย่าง หากคุณลองเข้าไปตำหนิสินค้า หรือองค์กร SCG ในกระทู้พันทิป ไม่ช้าไม่นานจะมีสาวกที่รักแบรนด์ SCG เข้ามาตอบ อธิบายรายละเอียด และแก้ต่างให้แทนเจ้าของสินค้า อีกทั้งเผลอๆ คนที่เข้ามาตำหนิสินค้า SCG อาจจะโดนศึกหนักถูกโต้กลับจากเหล่าสาวกของแบรนด์ SCG ก็เป็นได้
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวของการทำการตลาดนั้น จะพบว่ากิจการต้องวางแผนกลยุทธ์ และใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางการตลาดหลายๆ ตัวประกอบกันถึงจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ซึ่งการประชาสัมพันธ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริม และสนับสนุนวัตถุประสงค์ในการทำการตลาดให้บรรลุผลได้ตามวัตถุประสงค์เช่นกัน โดยวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นการสร้างภาพพจน์ ความน่าเชื่อถือ และทัศนคติที่ดีให้เกิดขึ้นแก่องค์กร ผลิตภัณฑ์ (Product) และตรายี่ห้อ เป็นการสื่อสารสิ่งใหม่ๆ สิ่งดีๆ ที่องค์กรได้กระทำขึ้น ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นในวัตถุประสงค์การทำการตลาดในขั้นทำให้ลูกค้าชื่นชอบ สนใจ พอใจในสินค้าหรือบริการ (Liking & Preference) รวมถึงทำให้ลูกค้าหลงรัก และคลั่งไคล้ในตรายี่ห้อ (Brand Love & Brand Passion)
ส่วนการประชาสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การประชาสัมพันธ์เชิงรุก (Proactive PR) การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตามวัตถุประสงค์ที่กิจการได้กำหนดไว้ มีการกำหนดเป้าหมาย แนวทางการดำเนินการ และผลที่ได้รับไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น การประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ การแถลงข่าวการเปิดสาขาใหม่ การแถลงข่าวผลประกอบการของกิจการ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมดีๆ ที่ได้ไปทำความดีเพื่อสังคม เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์ หรือกิจกรรมการกุศลต่างๆ
และการประชาสัมพันธ์เชิงรับ (Reactive PR) คือ การจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ หรือปัจจัยที่ไม่พึงประสงค์ ที่มีผลหรือคาดว่าจะมีผลต่อภาพพจน์ขององค์กร เช่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการบินไทย กำหนดแผนงานเตรียมไว้หากเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกว่าจะดำเนินการอย่างไร จะตอบคำถามสื่อมวลชน ญาติของผู้โดยสาร และประชาชนทั่วไปอย่างไร ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของการบินไทยให้น้อยที่สุด
อย่างกรณีล่าสุดที่บาร์บีคิวพลาซ่า ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีมีภาพชิ้นเนื้อวัว ที่มีความผิดปกติเป็นตุ่มใสคล้ายพยาธิ ส่งผลให้ลูกค้าเกิดความไม่เชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า จึงได้ออกชี้แจงว่าได้นำเนื้อวัดไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์ เบทาโกร จำกัด โดยได้รับการยืนยันว่าเนื้อวัวที่ตรวจสอบปราศจากพยาธิ