ทำนองเดียวกับบ็อทตัวช่วยการสั่งซื้อเครื่องใช้สำนักงานของ “สเตเปิ้ลส์อีซี่” ที่มีเทคโนโลยีค็อกนิทิฟอยู่เบื้องหลัง ทำให้สามารถเรียนรู้รูปแบบการสั่งสินค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์และปริมาณที่แต่ละองค์กรสั่งซื้อ พร้อมให้คำแนะนำสินค้าที่ลูกค้าน่าจะสนใจเพิ่มเติม โดยลูกค้าสามารถสั่งซื้อด้วยเสียง รวมทั้งแชตถามข้อมูลหรือติดตามสถานะสินค้าได้อย่างรวดเร็วจากช่องทางแชตบ็อท
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือบ็อท “อ็อตโต้” ของซอฟต์แวร์ด้านวิศวกรรม “ออโต้เดสก์” ที่ทำงานบริการลูกค้าแบบเรียลไทม์ โดยใช้ความสามารถของเทคโนโลยีค็อกนิทิฟในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือลูกค้าภายในเสี้ยวนาที ปัจจุบันเริ่มให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการขอรหัสแอคติเวทซอฟต์แวร์แล้ว โดยสามารถตรวจสอบได้ว่าลูกค้าซื้อซอฟต์แวร์จริงและออกรหัสแอคติเวทซอฟต์แวร์ใหม่ให้ได้ทันที และในอนาคตอ็อตโต้จะเริ่มเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อลดระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ของลูกค้าออโต้เดสก์ให้เหลือน้อยที่สุด
การสร้างบ็อทที่มีความฉลาดทางอารมณ์
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ทำให้ธุรกิจสามารถสร้างแชตบ็อทที่มีความฉลาดทางอารมณ์ เทคโนโลยีค็อกนิทิฟคอมพิวติ้งช่วยให้แชตบ็อทสามารถวิเคราะห์คำพูดที่ลูกค้าใช้ในการสื่อสาร เพื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ซ่อนอยู่ของลูกค้ารายนั้นๆ ได้ ภายใต้เป้าหมายในการทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังคุยกับผู้ที่เข้าใจในความต้องการของพวกเขา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน
หลายๆ บริษัทในปัจจุบันเริ่มใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจจับน้ำเสียงของผู้ใช้ ตัวอย่าง เช่น 1-800-Flowers ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกดอกไม้และของขวัญเพื่อมอบแก่คนพิเศษ ได้เปิดตัวบ็อทผู้ช่วยหาของขวัญที่ใช้ AI ชื่อว่า GWYN (Gifts When You Need) ผู้ช่วยนี้สามารถโต้ตอบกับลูกค้าออนไลน์ ด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติ โดยจะถามผู้ใช้เกี่ยวกับโอกาสในการให้และความรู้สึกของผู้ที่ต้องการมอบของขวัญนั้นๆ จากนั้นจะเสนอของขวัญที่เหมาะสมให้โดยพิจารณาจากคำตอบของลูกค้า กระบวนการนี้แสดงให้เห็นว่า GWYN เข้าใจความตั้งใจที่อยู่เบื้องหลังการซื้อของลูกค้า และไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมืออัตโนมัติ
AI กับอนาคตของแชตบ็อทและงานบริการลูกค้า
ในขณะที่เทคโนโลยี AI ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แชตบ็อทก็จะมีทักษะด้านการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ มีความฉลาดทางอารมณ์ และมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน เทคโนโลยีค็อกนิทิฟคอมพิวติ้ง หรือที่รู้จักกันในนาม AI จะเข้ามามีส่วนช่วยสร้างประสบการณ์ด้านการบริการลูกค้าในอนาคตให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ผ่านการทำความเข้าใจเป้าหมายของลูกค้า การเรียนรู้ และความสามารถในการให้เหตุผล ซึ่งจะส่งผลให้มนุษย์สามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น