Q: วิธีคิดในการผลิตละคร เราจะดีไซน์ละครยังไงที่จะให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วมไปกับละคร
A: ในการเลือกทำละคร เราจะคำนึงถึงความหลากหลายก่อน เนื่องจากบรอดคาซท์จะทำละครหลายแนว แต่ละแนวต้องสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของแต่ละแนวให้ชัดเจน แต่ละแนวจริงๆ ก็ทำยากหมดนะคะ
สำหรับบุพเพสันนิวาสเป็นเรื่องที่พี่หน่องและผู้กำกับบอกว่า ยากเป็นหลายเท่าของละครปกติ เพราะเวลาเราจะทำละครแนวสมัยใหม่ เราก็จะดีไซน์ประวัติศาสตร์ให้มันสวยงามหรือเข้ากับเนื้อเรื่อง บางครั้งฉากที่เดียวกันแหละ อยู่ที่การตกแต่งว่าจะทำอย่างไรให้เข้ากับ Story ของเรื่อง
เนื่องจากฉากบุพเพสันนิวาสเป็นอะไรที่ต้องจิตนาการแล้วก็สร้างไปตาม อย่างฉากย้อนยุคตามประวัติศาสตร์ต้องสร้างขึ้นแล้วก็จิตนาการตาม
ถ้าเกิดฉากวังหรือวัดก็ตาม ถ้าในยุคสมัยโบราณก็คงต้องใหม่ไม่ใช่เก่าตามประวัติศาสตร์ เพราะเรากำลังพูดถึงวันเก่าในวันที่ยังใหม่
ตัวละครอย่างการะเกดจะเดินไปไหนมาไหน ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำ ทางเรือ เป็นสิ่งที่เราสร้างใหม่ทั้งหมดเลย นี่คือความยากหลายๆ เท่าของละครปกติ
กว่าจะตัดสินใจที่จะทำเรื่องนี้มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องแก้โจทย์ทุกๆ อย่าง ที่เราทำแล้วมันยากกว่าธรรมดา เช่น การหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งหลาย
อย่างที่ดูจากเบื้องหลัง ในการทำฉากมีการสเกตช์แบบที่เราทำงานกันค่อนข้างหนัก
Q: การทำงานคือ อิงจากรูปแบบที่อยู่ในประวัติศาสตร์จริงๆ เลยใช่ไหม
A: ใช่ค่ะ จริงๆ ทุกอย่างมันมีเรื่องราว ต้นแบบของภาพแบบโบราณอยู่ เราก็เอามาสเกตช์แล้วก็ทำให้ใกล้กับของจริงมากที่สุด
Q: ความยากง่าย ของการทำงานตรงนี้คืออะไร
A: ขั้นตอนเยอะมากเลย เอาเฉพาะงานพรีโปรดักชั่น หรือเอาตั้งแต่งานคุณรอมแพงเขียน หรือว่าอาจารย์แดง ศาลายา จนมาถึงขึ้นตอนหลายขั้นตอนมากในการรีเสิร์ชข้อมูล
ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ผู้ประพันธ์ในการที่จะทำนิยายแนวที่อิงประวัติศาสตร์ เรื่องข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็ต้องอ่านข้อมูลจนกระทั่งเข้าใจแล้วก็นำมาเขียน เช่นเดียวกันหลังจากมีนิยายแล้วอาจารย์แดง ศาลายาซึ่งเป็นผู้ทีทำบทโทรทัศน์ต้องบอกว่าเป็นมือวางอันดับ 1 ของประเทศ
อาจารย์เองก็ยังเขียนไม่ได้ ต้องมาอ่านให้เข้าใจก่อนว่า บริบทของวิถีชีวิตชาวอยุธยายุคนั้นเป็นอย่างไร การพูด การใช้ชีวิต อาหาร ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม การเมือง รวมถึงพงศาวดาร เนื้อเรื่องของประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น
เนื่องจากว่า ละครบุพเพสันนิวาสในความยากส่วนหนึ่งเป็นตัวละครที่คุณรอมแพงสร้างขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นตัวละครที่มีจริงในประวัตศาสตร์ แล้วก็ทุกอย่างผ่านการรีเสิร์ชในข้อมูลจริงๆ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่อาจารย์แดงเขียน เป็นเหตุการณ์ที่เขียนไว้ในประวัติศาสตร์จริงๆ เพียงแต่มาเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น นี่คือขั้นตอนในส่วนของการตั้งแต่บทประพันธ์ บทโทรทัศน์
พอมาถึงขั้นตอนของการผลิต ผู้กำกับการแสดง ทีมงานทุกคน ตั้งแต่ทีมงานโปรดักชั่นก็จะประกอบไปด้วย ฝ่ายศิลป์ ออกแบบฉาก เสื้อผ้า หน้าผม รวมทั้งองค์ประกอบศิลป์ทุกอย่าง ในที่นี้หมายถึงว่าการตกแต่งฉาก แต่พอเราถ่ายจริงมันยังมีรายละเอียดที่ลงไปอีก ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ฝอยทอง มะม่วงน้ำปลาหวาน หมูโสร่ง
ทุกคนจะต้องดีไซน์แล้วก็คิดตามในบทที่อาจารย์เขียนมา เพราะฉะนั้นการเตรียมงานมีความยุ่งยากมาก
ความยากอีกระดับนึง ก็คือ จำนวนฉากเรื่องนี้มหาศาลมาก หนึ่งซีนก็คือ ออกแบบมาทั้งหมดเลย แล้วก็ถ่ายวันเดียวจบ เราจะเห็นว่ามีฉากมากมาย ซึ่งเรามีซีจีชนิดที่ว่านับไม่ได้เลย มันเยอะมาก เราก็อยากให้มันสวยงาม