มาถึงปี 2560 เฉพาะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ยิ่งทำให้ธนาคารมีความจำเป็น มีความซับซ้อน ท้าทายอย่างหนัก เพราะว่าผู้เล่นทั้งหลายไม่ใช่ลักษณะเดิมอีกต่อไป จากเมื่อก่อนธนาคารแข่งกับธนาคาร ภายใต้ทรัพยากรที่ใกล้เคียงกัน ระบบไอทีก็ใกล้เคียงกัน คนก็มีความใกล้เคียง ดึงคนกันไปมาแข่งกันไปมา แต่วันนี้เมื่อต้องแข่งกับอาลีบาบา อะเมซอน ต้องเป็นอีกแบบแล้ว บางเรื่องต้องแข่งกับ Initiative ที่มาจากธนาคารกลางสิงคโปร์ ที่เขาสปอนเซอร์อะไรบางอย่างที่เขาคิดว่าจะทำให้ตรงนี้มีสถานะแก้ปัญหาในอาเซียนได้
ประเทศไทยเอง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็ผลักดันหลายอย่างเข้ามา ซึ่งจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“การที่ทุกฝ่ายเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวอย่างมาก ขณะที่โมเดลโลกสมัยใหม่ ไม่มีคำตอบ...”
ธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการธนาคารครั้งล่าสุด
“ถ้าเริ่มจากประโยค ในภาวะที่ฟินเทคเป็นอย่างนี้ ธนาคารไม่เปลี่ยนคงจะแย่แน่แล้ว ไม่ใช่เพราะมันไม่ใช่เรื่องฟินเทคต่อไป ตอนนี้ฟินเทคเป็นคำที่แคบ เพราะเรามักพูดถึงเทคสตาร์ทอัพมาทำฟินเทค เขาเป็นส่วนสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ ส่วน แต่ต่อไปเป็นเรื่องที่เกิดจาก Financial Innovation ที่ถูกไดรฟ์จากคนเยอะแยะมากมาย ถ้าธนาคารไม่เปลี่ยนจะตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ทัน และมุมที่เห็นจากปีนี้เป็นต้นไป คือ Proliferate Financial Innovation ...”
ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (เวลานั้น) มองภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
จากนี้ไป ในยุค Financial Innovation ความท้าทายและความซับซ้อนของธุรกิจธนาคาร จะเป็นยุคที่เกมยืดเยื้อ รุนแรง และสุดท้ายอาจจะเห็นคำว่า Winner Takes All !
ดังนั้น จะปรับตัวอย่างไร ในขณะที่มีความพร้อมทั้งกำลังทรัพย์ กำลังคนอยู่?