โดยปกติแล้ว ถ้าตลาดอยู่ในภาวะไม่ดีมากๆ การเลือกใช้กลยุทธ์ราคา จะเป็นทางเลือกแรกๆ ซึ่งเราอาจจะได้เห็นการทำสงครามราคาเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อที่มีอยู่น้อยนิดในตลาด
ในทำนองเดียวกัน หากตลาดอยู่ในภาวะที่ไม่ดี เครื่องมืออย่างโปรโมชั่น จะถูกเลือกนำมาใช้ให้เห็นถี่หน่อย แต่ใช่ว่าจะเป็นแค่ช่วงตลาดไม่ดีอย่างเดียว ในบางครั้งหากต้องการเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ตัวเองให้ได้ตามเป้า หรือบางทีในช่วงของการลอนช์สินค้าใหม่ โปรโมชั่นอาจจะถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดการทดลองสินค้า
โปรโมชั่น จึงเป็นเสมือนเครื่องมือสารพัดนึก...
ยิ่งภาวะที่เศรฐกิจไม่ดี และกำลังซื้อไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่นักอย่างทุกวันนี้ การทำโปรโมชั่น จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทั้งแบรนด์สินค้าและห้างค้าปลีกนำมาใช้เพื่อดึงกำลังซื้อให้เข้ามาหาตัวเอง เราจึงได้เห็นการ “ลด แลก แจก แถม เต็มตลาดไปหมด
แต่บางครั้งการทำโปรโมชั่นแรงๆ เพื่อเรียกยอดขาย อาจจะไม่ได้ส่งผลดีเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะส่งผลกระทบกับแบรนด์ในแง่ของภาพลักษณ์บ้าง
เราจึงได้เห็นการทำโปรโมชั่นที่พ่วงในเรื่องของการทำ Branding หรือช่วยในเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ อย่างกรณีของชาเขียวโออิชิ ที่ทำโปรโมชั่นแคมเปญไหน ก็จะมีการเชื่อมโยงไปสู่เรื่องของ Value Proposition ที่แบรนด์ส่งมอบให้นั่นคือ “มีโออิชิ ชีวิตโอจัง” ซึ่งเป็นการหยิบเอาอินไซต์ของลูกค้ามาเป็นแกนหลักในการทำว่า แต่ละกลุ่มต้องการ “โอกับชีวิต” ในแง่มุมไหน ถือเป็นการใช้แบรนด์นำ ไม่ใช่ใช้โปรโมชั่นนำเหมือนในอดีต
ขณะที่บางแบรนด์หยิบเอาการทำแคมเปญโปรโมชั่นมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารแบรนด์ให้เข้ากับสถานการณ์หรือสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญในช่วงเวลานั้นๆ
ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ การทำโปรโมชั่นแคมเปญ “แสตมป์แลกคุ้ม” ของโลตัส ที่ทำออกมาในช่วงวันที่ 17 มีนาคม –18 พฤษภาคม 2565
การทำแคมเปญโปรโมชั่นแสตมป์ของโลตัสนั้น ถือเป็นโปรโมชั่นที่ทำมาต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากเป็นตัวช่วยในการเพิ่มยอดขายแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลอยัลตี้ โปรแกรม เพื่อสร้างการซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง