ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ มีโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ในการส่งออกอยู่ในต่างประเทศ 4 แห่งคือที่ เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี รวมถึงผลิตจาก 5 โรงงานในไทย คือ โรงงานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 แห่ง ได้แก่ ลำพูน, ชลบุรี, ระยอง และโรงงานเส้นขาว 2 แห่งอยู่ที่ราชบุรี โดยส่งออกไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก แบ่งสัดส่วนออกเป็น เอเชีย 50% ยุโรป 28% อเมริกา 18% แอฟริกา 1% และออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์อีก 3% โดยยอดขายตลาดต่างประเทศในปี 2564 โดยรวมอยู่ที่ 6,215 ล้านบาท แบ่งเป็นผลิตจากโรงงานในไทย 4,991 ล้านบาท และจาก 4 โรงงานในต่างประเทศ 1,224 ล้านบาท
สิ่งที่น่าสนใจก็คือการทำตลาดต่างประเทศของมาม่านั้น เดิมจะใช้พันธมิตรที่เป็นดิสทริบิวเตอร์เป็นคนช่วยทำตลาดร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และการทำตลาดในช่องทางขายด้วยการมีบรรจุภัณฑ์หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสการขายมากขึ้น และตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ เช่น จากเดิมมาม่าที่ขายในต่างประเทศ บรรจุในกล่องขนาด 30 ซอง สำหรับขายให้กับคนเอเชีย แต่ต่อมา มาม่าขยายฐานลูกค้า ไม่ทำตลาดเฉพาะคนเอเชียที่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่เจาะไปยังคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ พร้อมกับทำบรรจุภัณฑ์หลากหลายขนาด เช่น Multi-pack, กล่องขนาดใหญ่ ช่วยเพิ่มทั้งโอกาสการขาย และ Display สินค้าให้เด่นขึ้น
ตามยุทธศาสตร์การเติบโตในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ มาม่ามีแผนที่จะขยายเข้าไปตั้งออฟฟิศในต่างประเทศ โดยเตรียมเปิดออฟฟิศในฮังการี, อินเดีย, มาเลเซีย และเวียดนาม จากนั้นในเฟส 2 มีแผนเปิดออฟฟิศในสหรัฐอเมริกา, ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกา
คุณพจนา พะเนียงเวทย์ รองผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ที่ดูแลตลาดส่งออก บอกว่า ปัจจุบัน การทำตลาดของมาม่าในต่างประเทศ 80% ยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มแมส ส่วนอีก 20% จะเป็นกลุ่มพรีเมียม และ High Value ซึ่งทิศทางจะเหมือนกับตลาดในประเทศที่จะเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมียมและ High Value เนื่องจากมีโอกาสในการเติบโตค่อนข้างดี ตามเทรนด์ของคนทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น