ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว สิ่งที่พัฒนาขึ้นจะเข้ามาช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดเอาไว้ เพื่อทำให้การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว จากนั้นก็พัฒนาสู่การเป็น Super App Commerce แอปที่สามารถทำได้ทุกอย่าง มีทุกอย่างอยู่ในแอปเดียว เช่น ซื้อสินค้า การสั่งอาหาร จองเครื่องบิน ส่งสินค้า ฯลฯ ทำทุกอย่างได้ ขยายบริการครบจบที่เดียว ซึ่งจะเป็นสเตปต่อไปของการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ตัวเองสร้างขึ้นมา
ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือการทำตลาดของบรรดาอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในบ้านเรา อย่างกรณีของช้อปปี้ ที่วันนี้ ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเท่านั้น แต่ยังรวมเอาบริการหลายๆ อย่างเข้าไปไว้ในแอป อย่างช้อปปี้ ฟู้ด บริการสั่งอาหาร ดิลิเวอรี่ เป็นต้น โดยมีช้อปปี้ เพย์ ระบบชำระเงิน เป็นแก่นแกนสำคัญของการให้บริการ เป็นต้น
ก่อนหน้านั้น ลูกค้าชาวไทย จะรู้จักโลตัสในฐานะของการเป็นค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ขายสินค้าถูกทุกวัน แม้จะมีการพัฒนาสโตร์ฟอร์แมตที่หลากหลาย แต่ภาพจำของลูกค้าก็ยังคงเป็นร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าราคาถูก ซึ่งถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของโลตัส
การพัฒนา Lotus’s SMART App ขึ้นมาจึงเป็นอีกความพยายามในการเข้ามารองรับกับไลฟ์สไตล์การช้อปที่เปลี่ยนไปของลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ รวมถึงเป็นการทำตลาดที่สอดรับกับเรื่องของเทรนด์ค้าปลีกที่มุ่งไปที่การสร้าง Omni-channel Experience ให้กับลูกค้า
จุดแข็งสำคัญอีกอย่างของโลตัสก็คือการมีสาขาที่เป็น Physical Store หรือสโตร์ออฟไลน์ ครอบคลุมทั่วประเทศ เข้ามาช่วยเติมเต็มธุรกิจออนไลน์ ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ตและโลตัส โก เฟรช รวมกว่า 2,300 สาขา เป็นจุดกระจายสินค้า ส่งสินค้าตรงถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น ด้วยระยะทางที่ใกล้บ้านลูกค้ามากขึ้น โดยโลตัสเองมีการจับมือกับพันธมิตรแพลตฟอร์ม Delivery ต่างๆ และฟลีทขนส่งของเราเอง ทำให้สามารถจัดส่งในวันเดียวกัน (Same Day Delivery) และจัดส่งในวันถัดไป (Next Day Delivery) ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเติมเต็มในการทำตลาดแบบ Omni-channel ได้อย่างลงตัว
เมื่อมองมาที่ภาพรวมของตลาดค้าปลีกบ้านเราแล้ว พบว่า เทรนด์ของ Mobile Commerce กำลังมาแรง โดยคนไทยหันมาช้อปปิ้งผ่านมือถือมากขึ้น ยิ่งบ้านเราก้าวสู่ 5G แบบเต็มตัว ก็ยิ่งทำให้การช้อปผ่านมือถือเป็นเรื่องง่ายขึ้น