ดีลอยท์ โกลบอล ร่วมกับ The 30% Club เผยแพร่รายงาน Women in the Boardroom: A global perspective ฉบับที่ 7 โดยรายงานฉบับล่าสุดพบว่า ในคณะกรรมการบริษัททั่วโลก มีผู้หญิงร่วมดำรงตำแหน่งคิดเป็น 19.7% เพิ่มขึ้น 2.8% จากที่ระบุไว้ในรายงานที่เผยแพร่ในปี 2562 และคาดว่าโลกจะก้าวสู่ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงได้ในปี 2588 จากที่คาดการณ์ไว้แต่เดิมว่าเป็นปี 2595
ภูมิภาคหลักทั้ง 8 แห่ง (อเมริกาเหนือ ละตินและอเมริกาใต้ แคริบเบียน แอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เอเชีย และออสตราเลเซีย) มีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอยู่อย่างน้อย 10%
ในปีนี้ ดีลอยท์ โกลบอล ได้ร่วมมือกับ The 30% Club ซึ่งมีพันธกิจหลักในการผลักดันให้มีสัดส่วนของผู้หญิงอย่างน้อย 30% ในที่นั่งบอร์ดบริหาร และดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด
ประกอบด้วยข้อมูลล่าสุดจาก 72 ประเทศ เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งกรรมการของผู้หญิง ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มทางการเมือง สังคม และกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้
แม้ว่าจะมีสัดส่วนผู้หญิงดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยในปี 2564 แต่การที่ผู้หญิงก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอย่างกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ CEO กลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตอกย้ำแนวความคิดที่ว่า การมีสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัทที่มากขึ้น ไม่ได้บ่งชี้ว่า ผู้หญิงจะมีความก้าวหน้าในตำแหน่งระดับผู้บริหารหรือผู้นำต่างๆ ตามไปด้วย
การวิจัยล่าสุดพบว่า ทั่วโลกมีประธานกรรมการที่เป็นผู้หญิงอยู่เพียง 6.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเพียง 1.4% จากปี 2018 เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้จะยิ่งน้อยลงไปอีก เมื่อดูในส่วนของตำแหน่ง CEO กล่าวคือ 5% หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% จากปี 2561 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยของดีลอยท์ โกลบอล เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างสัดส่วน CEO ที่เป็นผู้หญิงกับความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัทที่มี CEO เป็นผู้หญิง จะมีสัดส่วนของผู้หญิงในบอร์ดบริหารมากกว่าบริษัทที่มี CEO เป็นผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญที่ 33.5% เทียบกับ 19.4% ตามลำดับ ตัวเลขทางสถิติให้ผลคล้ายๆ กันสำหรับบริษัทที่มีประธานกรรมการเป็นผู้หญิง (จะมีผู้หญิงอยู่ในคณะกรรมการบริษัทที่ 30.8% เทียบกับ 19.4% ตามลำดับ) และในทางกลับกันคือ คณะกรรมการที่มีความหลากหลายเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะแต่งตั้ง CEO และประธานกรรมการที่เป็นผู้หญิงมากกว่า
ความคืบหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำมาใช้ศึกษาในรายงานฉบับนี้ ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งในภาพรวมแล้ว แต่ละประเทศมีความคืบหน้าที่ดี โดยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทโดยเฉลี่ยที่ 17.1% เทียบกับ 14.3% ในปี 2561 นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 11.7% และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 19.7%
ในแง่ของอัตราส่วนการเปลี่ยนแปลง จากรายงานพบว่า ภูมิภาคนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 2.7% จากปี 2018 ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นที่ 2.8% ทั่วโลก มาเลเซีย (3.4%) ฟิลิปปินส์ (3.8%) สิงคโปร์ (3.9%) และไทย (3.6%) รายงานถึงสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก้าวนำตัวเลขเฉลี่ยรวมทั่วโลก ในขณะที่อินโดนีเซียลดลง 1.0%
การวิจัยแสดงให้เห็นผลของการแบ่งเป็นสองขั้ว นั่นก็คือว่า ถึงแม้ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารที่ 6.0% แต่สัดส่วนการเปลี่ยนแปลงมีความหลากหลายมากกว่านั้น ที่เด่นชัดที่สุดคือ อินโดนีเซียมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบที่ 2.4% ส่วนมาเลเซียและไทยรายงานถึงการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกที่ 2.6% และ 1.2% ตามลำดับ
หากเปรียบเทียบแล้ว เมื่อพิจารณาถึงบทบาท CEO ในกลุ่มผู้หญิง สิงคโปร์ (13.1%) และประเทศไทย (11.6%) จัดอยู่ในอันดับที่หนึ่งและสามตามลำดับในกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจ