สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวว่า ความจริงแล้วเทรนด์ของ KOC มาพร้อมกับโซเชียลมีเดียหลายปีแล้ว แต่ KOL และ KOC ยังไม่เป็นที่รู้จัก และเพิ่งได้รับความสนใจมาเมื่อไม่นานมานี้เนื่องจากมองเป็นถึงความสำคัญของการตลาดแบบบอกต่อ โดยความเหมือนและแตกต่างของ KOL และ KOC อยู่ที่ขนาดและฟังก์ชั่น ซึ่ง KOC ส่วนใหญ่จะมีผู้ติดตามไม่เกิน 1,000 คน และอาจเล็กกว่า Micro Influencer ที่ดูเหมือนคนธรรมดาทั่วไปแต่สามารถสร้างอิทธิพลทางความคิดให้เกิดขึ้นได้
“สิ่งที่น่าสนใจ คือเรื่องฟังก์ชั่นของ KOC ที่เปรียบได้กับ Micro Influencer และสิ่งที่ทำ KOC ยิ่งมีความแตกต่าง จาก KOL คือฟังก์ชั่นด้านคณิตศาสตร์ของโซเชียลมีเดีย หมายความว่า หาก KOC มีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียจำนวนไม่มากก็จะไม่ถูกปิดกั้นการมองเห็นจากแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย โอกาสที่เพื่อนจะมองเห็นโพสต์มีค่อนข้างมาก จึงไม่จำเป็นต้องซื้อบูสต์ ขณะที่ KOL หรือ Influencer ที่มีผู้ติดตามเป็นหลักแสนคนแต่โอกาสที่เพื่อนจะมองเห็นมีเพียง 1% ทำให้ต้องมีการจ่ายค่าโฆษณาเพื่อซื้อบูสต์เพิ่มขึ้นมา”
สุวิตา ยังมองว่า สินค้าที่มีการใช้ KOC มากขึ้น คือกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์ ที่ถือเป็น Early Stage ของ KOC แต่ในปีหน้าจะเริ่มเห็นการใช้ KOC กับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่มีความเป็น Niche มากขึ้น หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงยากในบางกลุ่ม แต่วันนี้ยังเป็น Mass อยู่
สำหรับ Tellscore ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Influencer Marketing จึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อ ระหว่างบริษัทหรือแบรนด์ กับ KOC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำตลาด โดยวิธีการหา KOC เพื่อมาซัพพอร์ตให้กับ แบรนด์ที่ต้องการใช้ KOC มี 2 รูปแบบ คือ KOC เป็นกลุ่มคนของแบรนด์นั้นๆ อยู่แล้ว อาจอยู่ในรูปแบบพนักงานภายใน องค์กร หรือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นฐานลูกค้าของแบรนด์ โดย Tellscore จะนำระบบไปใส่เพื่อบริหารจัดการให้กับแบรนด์นั้นๆ และอีกรูปแบบหนึ่งคือ KOC ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์อยู่ในแพลตฟอร์มของ Tellscore
ที่ผ่านมา มีบางธุรกิจเริ่มมองเห็นพลังของ Word of Mouth ก็จะเริ่มใช้พนักงานของตัวเองมาสร้างเป็น KOC
อาจเปรียบได้กับการเป็น CRM Program ที่ต้องมีภารกิจกับการสร้างกระแสในโซเชียลมีเดีย ที่สามารถสร้างอิมแพคได้ดี ตัวอย่าง เช่น องค์กรในกลุ่มพลังงานรายหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์ ได้สร้าง Reputation Management เพราะถูกมองว่าสร้างกระแสทำให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้น จึงใช้พนักงานที่มีนับหมื่นคนออกมาแชร์อินโฟกราฟิก ที่แสดงให้เห็นถึงเส้นทางของน้ำมันจากการเป็นน้ำมันดิบในบ่อน้ำมัน จนมาถึงปั๊มน้ำมัน และผู้บริโภค
ทำให้ทราบว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอยู่ที่การเทรดในตลาดโลก และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งการสื่อสาร ที่มาจาก KOC ที่เป็นพนักงานภายในองค์กรด้วยภาษาพูดที่แตกต่างกันออกไป ทำให้กลายเป็นกระแสที่ผู้คนและสื่อให้ความสนใจ ตรงนี้เป็นเรื่องของ KPI การสร้างความน่าเชื่อถือโดยไม่จำเป็นต้องขายของก็ได้