ณัฐกฤตา เหลืองไพบูลย์ศรี Chief Operation Officer บริษัท อีลิเม้นท์ 72 จำกัด ผู้นำเข้าธุรกิจค้าปลีกสินค้าเออร์เบิร์น เอาท์ดอร์, เออร์เบิร์น ไลฟ์สไตล์ และเครื่องแต่งกาย ภายใต้ร้าน ELEMENT 72 อธิบายว่า
กระแสของ Glamping ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ร้านค้าต่างๆ กล้าที่จะเอาสินค้าแบรนด์ดีๆ ดังๆ เข้ามาวางจำหน่ายจนกลายเป็นกระแสที่จุดติดในบ้านเรา
“ส่วนหนึ่งมาจากคนที่เข้าวงการมาใหม่ต้องการ Content เพื่อเอาไปลงในโซเชียลมีเดียด้วย ตลาดแคมปิ้งเลยพัฒนาไปเป็น Glamping แทน คนต้องการโชว์อุปกรณ์เจ๋งๆ เอาง่ายๆ ว่ามาโชว์กันเลย รู้สึกว่ามีแล้วเจ๋ง อุปกรณ์เหล่านี้เลยเกิด เทรนด์นี้ถึงแม้ว่าจะมาเร็ว แต่มั่นใจว่าไม่ได้เป็นแค่แฟชั่น เพราะว่าไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นนี้เปลี่ยนแปลงไป คนอยากออกไปหาประสบการณ์ที่แตกต่าง ยุคหนึ่งคนทำงานเก็บเงินสร้างอนาคต ซื้อบ้านซื้อรถ แต่เด็กสมัยนี้ไม่ใช่ เด็กสมัยนี้ไม่ได้อยากมีทรัพย์สินเหมือนรุ่นก่อน แต่อยากมีประสบการณ์ใหม่ๆ อยากสร้างความแตกต่าง เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เติบโตในระยะยาวเกิน 10 ปีแน่นอน”
ณัฐกฤตา ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Glamping นั้น แม้จะเที่ยวแบบกลางแจ้งก็จริง แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน มีโน้ตบุ๊คไปทำงาน เตรียมเครื่องบดกาแฟไปดริปกาแฟ บางคนกล้าซื้อตะเกียง เสาตะเกียงชุดละ 20,000-30,000 บาท
“คนกลุ่มนี้เที่ยวบ่อย เที่ยวถี่เมื่อมีโอกาส บางคนไม่มีเวลาก็สร้างบรรยากาศในบ้านตัวเอง ในสวนตัวเอง หรือมีเวลา 1-2 วันก็เที่ยวใกล้ๆ สุพรรณบุรี สระบุรีก็ไป หรือไม่ก็ทำงานวันศุกร์ เลิกงานแล้วเดินทางเลย เพราะชุดที่ใส่ไปทำงานก็คือชุด Outdoor อยู่แล้ว เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Urban Outdoor คือพร้อมที่จะเที่ยวถ้ามีโอกาส ที่สำคัญคือตลาดนี้โตทั้งกลุ่มผู้ชายและผู้หญิง ตอนนี้กลุ่มผู้หญิงเติบโตมาก เพราะว่ามีเทคโนโลยี มี Google Map ทำให้ผู้หญิงกล้าเที่ยวและขยายตัวเพิ่มขึ้น”
เท่ากับว่าในตอนนี้ตลาดสินค้า Outdoor Lifestyle Travel ของไทย พอจะแบ่งเซ็กเม้นต์ออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
1. กลุ่ม Camping ที่เน้นผู้บริโภคกลุ่ม Mass ที่นิยมท่องเที่ยวกลางแจ้งที่ไม่ถึงกับสมบุกสมบัน และนิยมมองหาสินค้าประเภท Value For Money ในท้องตลาดก็มีหลายแบรนด์ให้เลือกซื้อ อาทิ สนามเดินป่า, K2, Decathlon
2. กลุ่ม Glamping ที่เน้นจับกลุ่มนักท่องเที่ยวกลางแจ้งที่กึ่งไปทาง Luxuary Lifestyle หน่อยๆ แบรนด์ในกลุ่มนี้ก็มีมากมาย อาทิ Coleman, Nordisk, MSR, Blackdeer, The North Face, Columbia, Keen, Yeti, Stanley, Gramicci, GRAYL ฯลฯ
3. กลุ่ม Trekking หรือกลุ่มที่นิยมเดินในเส้นทางธรรมชาติแบบเส้นทางไกล กึ่งสมบุกสมบัน มีการซ้อมเดินเป็นจริงเป็นจัง เพราะต้องเข้าป่าหลายๆ วัน เดินหลายสิบกิโล ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเน้นซื้อของที่มีคุณภาพ ทนทาน น้ำหนักเบา คือเน้นที่ฟังก์ชั่นการใช้งานจริงๆ มากว่าดูจากราคา สินค้าในกลุ่มนี้บางส่วนจะทับซ้อนกับกลุ่ม Glamping ในบางส่วน เช่น The North Face, Columbia, Gregory, Asolo, Fjallraven, Thermarest, Platypus, Coleman, MSR ฯลฯ
“ก่อนหลัง COVID-19 ยอดซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า ถ้าเป็นคนทั่วไปก็เฉลี่ย 5,000 บาทแต่ถ้าเป็นกลุ่ม Outdoor Glamping บางคนไปถึง 60,000-70,000 บาท เพราะว่ามีอุปกรณ์เยอะ ซื้อเต็นท์แล้วก็ต้องมีเตาคู่ ต้องมีโต๊ะ เก้าอี้สนาม Coleman ต้องมีคูลเลอร์ Stanley ต้องมีตะเกียงสวยๆ มีเสาตะเกียง ต้องมีดวงไฟประดับเต็นท์ ทำให้มูลค่าสูง และลูกค้าอยากได้สินค้าที่มี Brand Value”
*ติดตามเนื้อหาฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสาร BrandAge ฉบับเดือนธันวาคม 2564 หน้าปก 2022 18++TRENDS หน้าที่ 074-119*