ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวลงอย่างมากจากผลกระทบของโควิด-19 ในปี 2563 โดยการใช้จ่ายในประเทศได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐและการเร่งฉีดวัคซีน ขณะที่ทางการไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนการส่งออกเติบโตในระดับสูงได้ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอาจชะลอลงอีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 ท่ามกลางความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้ทางการไทยต้องมีการปรับมาตรการเพื่อดูแลสถานการณ์อีกครั้ง
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 38,053 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 4 ปี 2564 จำนวน 9,901 ล้านบาท
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 8,566 ล้านบาท หรือ 29.05% ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) จำนวน 3,216 ล้านบาท หรือ 7.38% โดยธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองฯ ในปี 2564 จำนวน 40,332 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นสำรองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 159.08% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ที่อยู่ที่ระดับ 149.19% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดสำหรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่อาจชะลอลงอีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมทั้งการดำเนินการเชิงรุกของธนาคารและบริษัทย่อยที่ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง