ชุดกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเล่นกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เราคุ้นชินคงหนีไม่พ้นการทำในเรื่องของเอนเตอร์เทนเม้นต์ มาร์เก็ตติ้งที่มีทั้ง มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง และมูฟวี่ มาร์เก็ตติ้ง รวมถึงการทำในเรื่องของสปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ที่อันหลังนี้ ถูกนำมาใช้ให้เราได้เห็นกันอย่างแพร่หลาย
หากมองเจาะลึกเข้ามาที่การทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งแล้วจะพบกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สำหรับการทำตลาดผ่านกลยุทธ์สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งนั่นก็คือ เป้าหมายของการทำ ไม่ได้อยู่แค่การมองถึงการสร้าง Brand Visibility หรือการผลักดันให้แบรนด์เข้าไปปะทะสายตาของกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น
แต่การทำสปอร์ต มาร์เก็ตติ้งในยุคปัจจุบันนี้ ยังมีเป้าหมายรวมอยู่ที่เรื่องของ Engagement ที่ช่วยในการหล่อหลอมความผูกพันระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น แน่นอนว่าจะเป็นการปูทางไปสู่การสร้างแบรนด์เลิฟในระยะยาวอีกด้วย
ที่สำคัญ การทำสปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ในปัจจุบัน ที่เน้นไปที่เรื่องของ Engagement นั้น ยังเป็นการช่วยมอบหรือสร้างประสบการณ์ที่ดีร่วมกันกับแบรนด์อีกด้วย ทำให้เราได้เห็นการนำกลยุทธ์สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง เข้ามาทำในเรื่องนี้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
ทีนี้ ลองมาดู 5 แง่มุมที่น่าสนใจในการทำสปอร์ต มาร์เก็ตติ้งกันดูว่ามีอะไรบ้าง
1. สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง เป็นกลยุทธ์ที่มี Impact ค่อนข้างแรง เพราะเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนในแต่ละรุ่นได้เป็นอย่างดี เพราะกีฬาคือส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของพวกเขา
2. ไม่เพียงแค่การ Brand Visibility เท่านั้น แต่สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ยังเป็นตัวช่วยสร้าง Brand Engagement ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับการสร้าง Brand Talk ที่ทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในกระแสของผู้บริโภคยิ่งเป็นการมัดรวมพลังใจเพื่อเชียร์ทีมหรือนักกีฬาคนใดคนหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้สามารถเข้าไปอยู่ในกระแสของผู้บริโภคได้ แน่นอนว่า ในฐานะแบรนด์ที่เป็นผู้สนับสนุนก็จะได้รับผลพวงดังกล่าวไปด้วย
3. เพราะฉะนั้นแล้ว รูปแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ผ่านการทำกลยุทธ์นี้คือ โฆษณาสำหรับการสร้าง Awareness สปอนเซอร์ชิพ เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ และโปรโมชั่นสำหรับการเพิ่มยอดขาย อาจจะไม่เพียงพอ เพราะต้องดูถึงการเข้าไป Engage ผู้บริโภคที่มีผลต่อแบรนด์ในระยะยาวด้วย
4. แง่มุมมองของการทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งที่เน้นในเรื่องของการสร้าง Brand Engagement ที่เราได้เห็นบ่อยมากในช่วงที่ผ่านมาก็คือ เรื่องของการ Inspire Emotional โดยเลือกเอาจุดที่เชื่อมโยงระหว่างทีมหรือตัวนักกีฬาที่แมตช์กับแบรนด์มาเป็นแง่มุมในการสื่อสาร
การ Inspire หรือสร้างแรงบันดาลใจนี้ ยังรวมถึงการใช้สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง เข้ามาช่วยสร้างภาพบวกให้กับแบรนด์ผ่านกิจกรรมในการให้ความรู้ หรือช่วยเพิ่มทักษะด้านกีฬาให้กับเยาวชนของประเทศที่อาจจะรวมถึงการเป็นสะพานในการเชื่อมต่อเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กหรือเยาวชนเหล่านั้นได้ก้าวเข้าไปมีประสบการณ์ที่พร้อมจะต่อยอดไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพเมื่อพวกเขาเติบโตมาก
เราจึงได้เห็นการทำการตลาดเชิง CSR ที่ใช้สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ทั้งในรูปแบบของการ “ให้” ผ่านการมอบอุปกรณ์ หรือเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่ด้อยโอกาสได้มีส่วนร่วมกับกีฬาที่พวกเขาชอบ อาทิ การเปิดคลินิกสอนฟุตบอลโดยสโมสรฟุตบอลชื่อดังที่แบรนด์เข้าไปเป็นสปอนเซอร์ หรือการพาเด็กๆ ไปเรียนรู้จริงกับการฝึกสอนที่อะคาเดมี่ของสโมสร เป็นต้น
5. ขณะที่การต่อยอดจากแฟนคลับมาสู่การเป็นแฟนแบรนด์ จะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ เป็นการ Collaboration กันอย่างลงตัว ซึ่งที่ผ่านมา การเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ทีมเชลซีของคาราบาวแดงนั้น นอกจากคาราบาวแดงจะใช้เชลซีที่มีแบรนด์แข็งแรงในประเทศอังกฤษเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขยายฐานการทำตลาดเข้าไปในประเทศอังกฤษแล้ว ในทางตรงกันข้าม เชลซีก็มองถึงการใช้คาราบาวแดง เป็นตัวช่วยในการขยายฐานแฟนคลับของตัวเองในย่านอาเซียนอีกด้วย
6. สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ผ่านฟุตบอล ยังเป็นตัวช่วยสร้าง Brand Talk ที่จะผลักดันให้แบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์นี้เข้าไปอยู่ในกระแสของผู้บริโภค ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับฟุตบอลมักเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในวงสนทนาของผู้คนตลอดเวลา