บรรดาแบรนด์ใหญ่ระดับโลกมากกว่า 70 แบรนด์ เช่น Unilever, Nestle, Coca Cola, PepsiCo, Walmart, ธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส ฯลฯ ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้มีสนธิสัญญาระดับโลกในการต่อสู้กับมลภาวะพลาสติก ซึ่งรวมถึงการลดการผลิตพลาสติกซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญจากอุตสาหกรรมน้ำมัน
จะมีการประชุมเป็นทางการระดับโลก ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Assembly - UNEA 5.2) ในปลายปีนี้ เพื่อเริ่มการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาเพื่อจัดการกับวิกฤตขยะพลาสติกล้นโลก ที่กำลังทำลายมหาสมุทร และคร่าชีวิตสัตว์ป่า
อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อตกลงร่วมที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกและการรีไซเคิล หรือจะดำเนินการขั้นรุนแรงถึงขนาดให้มีการควบคุมการผลิตพลาสติกใหม่ ทั้งนี้เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจเผชิญกับการต่อต้านจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี รวมทั้งจากประเทศผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา
ในแถลงการณ์ร่วมของบรรดาบริษัทใหญ่ระดับโลกมากกว่า 70 บริษัทระบุว่า "เราอยู่ในจุดวิกฤต ในช่วงเวลาที่จะสร้างสนธิสัญญานี้ ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาที่มีความทะเยอทะยานของสหประชาชาติ" แถลงการณ์ดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า "ข้อตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นควร "ลดการผลิตและการใช้พลาสติกบริสุทธิ์"
คำแถลงยังระบุว่า “การดำเนินการ UNEA 5.2 (สร้างสนธิสัญญาการจัดการวิกฤตขยะพลาสติก) เป็นความแน่วแน่ ในช่วงเวลาที่เป็นฤกษ์งามยามดีที่สุด ที่จะพลิกวิกฤตการณ์มลพิษจากพลาสติกทั่วโลก ที่เราไม่ควรพลาด”
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีพลาสติกน้อยกว่า 10% ของพลาสติกทั้งหมด ถูกนำไปรีไซเคิล และจากการสอบสวนของสำนักข่าว Reuters เมื่อปีที่แล้วเปิดเผยว่า เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบบใหม่ที่อุตสาหกรรมพลาสติกนำมาใช้ พยายามต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว
แต่ในขณะเดียวกัน การผลิตพลาสติกจากน้ำมันและก๊าซ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 20 ปี และนี่เป็นแหล่งรายได้หลักในอนาคตของบรรดายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงาน เนื่องจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงตามการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้มีผลการศึกษาที่สำคัญในปี 2020 โดย Pew Charitable Trusts พบว่า แม้ว่าการปรับเพิ่มขนาดของการรีไซเคิลทั่วโลกมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก แต่ความพยายามเหล่านี้จะไม่ป้องกันมลพิษจากพลาสติกที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากไม่มีข้อจำกัดในการผลิต
จากการสอบสวนของสำนักข่าว Reuters เมื่อปีที่แล้วยังพบว่า บริษัทต่างๆ ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกที่รีไซเคิลยากนั้นกำลังถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจัดการกับขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น บางรายจึงร่วมมือกับผู้ผลิตซีเมนต์เพื่อเผาขยะพลาสติกให้เป็นเชื้อเพลิงราคาถูกในประเทศกำลังพัฒนา
Cr : REUTERS
Source