มีกรณีศึกษาของการทำธุรกิจที่น่าสนใจของ SMEs 2 รายมานำเสนอ คือ “ร้านบิ๊กเต้” ร้านโชวห่วยเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณแหล่งหอพักของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กับ “ร้านน้ำพริกแคบหมูยายน้อย” ที่เน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก
แม้ว่าจะขายสินค้าต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้ง 2 เพจมีเหมือนกันก็คือ Brand Personality ที่ชัดเจน คือถ้าเป็นคนก็จะออกไปทางยียวนกวนประสาท ความกวนนี้เองที่กลับกลายเป็นสะพานใจเชื่อมผู้บริโภคเข้าหาแบรนด์ได้อย่างเหนียวแน่น จนมีแฟนคลับที่ไปไกลกว่าคำว่าลูกค้าหลายเท่า
เริ่มจากร้านบิ๊กเต้...
เสน่ห์ของร้านบิ๊กเต้ที่คนทั่วประเทศให้ความสนใจและติดตามเพจก็มาจากการเขียนบรรยายสรรพคุณของสินค้าที่ค่อนข้างจะอธิบายได้เห็นภาพแถมยังอินกับกระแสจนโดนในกลุ่มเป้าหมาย
เต้-ศตวัสส์ ฝ่ายรีย์ เจ้าของร้านบิ๊กเต้ อธิบายว่า ป้ายอธิบายสินค้าเริ่มต้นจากการทำ FAQ วิธีใช้ผงสลายท่อตัน ซึ่งถือเป็นป้ายแรกที่เกิดขึ้นในร้าน ที่บอกวิธีใช้ว่าแค่เทผงลงไปแล้วก็เอาน้ำราด แต่ว่าพอเวลาผ่านไป ทางร้านก็พยายามแทรกมุกเข้าไปในการอธิบายสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จุดประสงค์ก็ไม่มีอะไรนอกจากเพื่อให้ของดูน่า สนใจและขายได้
“ของบางอย่างมันไม่ได้ขายได้ด้วยตัวมันเอง เราก็เลยจำเป็นที่จะต้องทำอะไรสักอย่างให้ของมันดูอยู่ในสายตาของลูกค้า สิ่งที่ตอบโจทย์ตรงนี้ก็คือป้าย ซึ่งเหมือนกับมีพนักงานมาคอยเชียร์สินค้าตามห้าง ที่เชียร์ว่าสินค้าตัวนี้มันดีอย่างไร มันจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าน่าลอง ลองสักหน่อยก็ดี นี่คือฟังก์ชั่นของป้ายที่สื่อสารในลำดับถัดมา”
จุดที่ทำให้ป้ายอธิบายสินค้าของร้านบิ๊กเต้เป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่นั้น จะมาจากการใช้วิธีสื่อสารด้วย Content ที่เป็น Realtime Marketing หรือคำคมที่ให้แง่คิด เพราะทำให้เกิด Engagement ที่ดี คนสนใจ เช่น เขียนโพสต์ขายยางลบว่า “เขียนด้วยมือ อย่าลบด้วยเท้า พี่เต้มียางลบจำหน่าย”