นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกกับเราว่า การเลือกใช้กลยุทธ์ในรูปแบบของการสร้างไพรซ์ แวลู่ ผ่านตัวเมนูพิเศษนี้ เป็นการมองเห็นโอกาสทางการตลาดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่มีความรู้เรื่องของอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะจ่ายเพื่อแลกกับเมนูที่มีแวลู่มากขึ้น แน่นอนว่าอาหารญี่ปุ่นที่ถูกมองว่ามีแวลู่มากที่สุดจะหนีไม่พ้นเนื้อวากิว หมูคุโรบุตะ และซีฟู้ดอย่างกุ้ง จึงเป็นที่มาของการครีเอทแคมเปญนี้ขึ้นมา
“เรามองว่า การทำแคมเปญนี้ จะเป็นการเพิ่ม Occasion ในการบริโภคของลูกค้า ที่ส่วนหนึ่งมักจะให้รางวัลกับชีวิตด้วยการบริโภคอาหารญี่ปุ่นมีคุณภาพและถูกมองว่ามีแวลู่ ขณะที่เทรนด์ของอาหารญี่ปุ่นเองก็กำลังมุ่งไปที่ความเป็นพรีเมียมมากขึ้น จึงสอดคล้องกับการทำแคมเปญ แน่นอนว่า เราไม่ทิ้งกลุ่มเก่าที่จ่ายในราคาเดิมคือ 399 บาทต่อหัว แต่หากแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จก็จะมีการนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป”
สิ่งที่โออิชิ ชาบูชิ ทำออกมานั้น ถือเป็นการวางกลยุทธ์การกำหนดราคาตามมูลค่า (Value-based Pricing) ซึ่งเป็นการตั้งราคาตามที่ลูกค้ายินดีจ่าย แม้ว่าโออิชิสามารถเพิ่มราคาสินค้าได้ แต่ก็เล็งเห็นความต้องการมากกว่าราคา โออิชิจึงเลือกกำหนดความสนใจและข้อมูลของลูกค้าเป็นหลัก การกำหนดราคาตามมูลค่าหากใช้ได้อย่างถูกต้อง จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและความภักดีของลูกค้าได้ เช่นเดียวกับการช่วยเพิ่มยอดขายจากการขยายโอกาสการบริโภคไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ