ตรวจร่างกาย: กระแสเงินสดคือหัวใจ
เมื่อเจอกับปัญหาการเงิน หลายคนมักตื่นตระหนกจนไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ไขอย่างไร จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ได้แนะนำว่า “เวลาเราเป็นหนี้ เรามักไปโฟกัสอยู่กับโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรหนี้จึงจะหมดไป แต่หนี้ไม่จำเป็นต้องหมด เราก็สามารถหายใจคล่องได้ สิ่งที่เราควรต้องให้ความสำคัญจริงๆ คือ กระแสเงินสด ดังนั้น อยากให้ลองตรวจเช็กดูว่า ตอนนี้เงินสดที่มีอยู่ในมือเป็นบวกหรือลบ หากเป็นบวก นั่นหมายถึงว่าเรามีสมดุลการใช้จ่ายที่ดี แต่หากยังเป็นลบ ต้องดูว่าจะสามารถทำให้กลับมาเป็นบวกอย่างไร โดยอาจเริ่มจากการเช็กงบแสดงสถานะทางการเงินที่แสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และงบรายรับรายจ่ายที่มองไปถึงอนาคตว่า จะมีค่าใช้จ่ายหรือรายรับอะไรเข้ามาบ้าง”
จ่ายยา (รักษา): ให้วิกฤตครั้งนี้เป็นภาวะการเงินเลวร้ายครั้งสุดท้าย
ในการรักษาสุขภาพทางการเงินนั้น โค้ชหนุ่มเน้นย้ำว่า ต้องไม่รักษาตามอาการให้ผ่านๆ ไป แต่ต้องมองถึงการรักษาระยะยาว “โจทย์เล็กคือเราจะผ่านโควิดได้อย่างไร โจทย์ใหญ่คือเราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรในยามเกษียณ ดังนั้น การรักษาที่ยั่งยืนคือการไม่สร้างหนี้เพิ่ม โปะหนี้ทีละรายการ หรือรวมหนี้เป็นก้อนเดียว โดยอาจจะทำได้ผ่านการรีไฟแนนซ์ ซึ่งไม่ใช่การแก้หนี้ให้หายไป แต่เป็นการหาดอกเบี้ยที่ลดลงและเพิ่มสภาพคล่อง ที่สำคัญ เรายังต้องกล้าที่จะเจรจาและเปิดเผยข้อมูลกับสถาบันการเงิน เพราะเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินเช่นกัน ที่จะช่วยเราหาทางออกจากสภาพทางการเงินอ่อนแอ”
หาวิตามินเสริม: เพิ่มภูมิคุ้มกันได้ง่ายๆ หากรายได้มั่นคง
เมื่อรักษาอาการป่วยทางการเงินแล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างสุขภาพทางการเงินที่ยั่งยืนได้ก็คือ การเสริมวิตามินสร้างความแข็งแรงให้แก่ตัวเอง โดยวิตามินที่เหล่ากูรูได้แนะนำไว้มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน
-
วิตามิน C (Career): โค้ชหนุ่มแนะนำว่า “ทักษะ ความรู้ที่เรียนมา สายสัมพันธ์ หรือไอเดียใหม่ที่อยากลองทำสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้ได้ทั้งสิ้น เราสามารถเริ่มต้นจากการนึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำได้ หากสิ่งๆ นั้นสามารถสร้างประโยชน์หรือช่วยเหลือใครได้ ย่อมสามารถนำมาผลิตเป็นสินค้า สร้างเป็นบริการ หรือขายเป็นความรู้ได้อย่างแน่นอน โดยลองตั้งเป้าหมายและให้เวลาตัวเองทดลองและเรียนรู้ประมาณ 6 เดือน เพื่อช่วยเป็นแนวทางชี้ว่าวิธีการนั้นได้ผลจริงหรือไม่”