อย่างไรก็ตาม โตโยต้า คัมรี ได้รับการแนะนำเข้าสู่ตลาดรถยนต์ประเทศไทยครั้งแรกในปี 2536 ในรูปแบบรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูป ด้วยภาพลักษณ์แห่งการเป็นรถยนต์หรูเหนือระดับสำหรับผู้นำ โดยได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าชาวไทยเป็นอย่างดี ส่งผลให้ คัมรี เจเนอเรชั่นที่ 4 ได้นำมาประกอบ ณ โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าในประเทศไทย เมื่อปี 2542 โตโยต้ายังเป็นผู้บุกเบิกยนตรกรรมระบบไฮบริดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2552 และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดจำหน่ายสะสมรวมกว่า 224,000 คัน (ข้อมูลยอดขายสะสมปี 2542 - 2564)
ในปี 2561 โตโยต้าได้แนะนำคัมรีใหม่ (All-New Camry) ภายใต้แนวคิด “Unprecedented Change” หรือ“ปรากฏการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่” เพื่อยกระดับเทคโนโลยีโตโยต้าขึ้นไปอีกขั้น โดยการแนะนำแพลตฟอร์มใหม่ของโตโยต้า สถาปัตยกรรมยานยนต์ใหม่ TNGA ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นที่ 4 และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยขั้นสูงสุดของโตโยต้าอย่างครบครัน เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า ซึ่งประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย ด้วยยอดขายเกือบ 22,000 คัน นับตั้งแต่เปิดตัวเข้าสู่ตลาด
สำหรับการแข่งขันของรถยนต์ในกลุ่ม D Segment ในประเทศไทยในปีนี้ เฉพาะกลุ่มรถยนต์ซีดานแบรนด์ญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากที่ นิสสัน เทียน่า ยุติการทำตลาดไปแล้ว ปัจจุบันจึงมีผู้เล่นอยู่เพียง 2 แบรนด์หลัก คือ โตโยต้า คัมรี และฮอนด้า แอคคอร์ด ที่ผลัดกันขึ้นนำในเรื่องตัวเลขยอดขายในแต่ละเดือน
โดยภาพรวมของตัวเลขการจดทะเบียนรถใหม่ป้ายแดง จากกรมขนส่งทางบกในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมา (มกราคม – กันยายน) แอคคอร์ด มีตัวเลขการจดทะเบียนอยู่ที่ 3,109 คัน ขณะที่ คัมรี มีอยู่ 3,391 คัน มากกว่า แอคคอร์ด เป็นจำนวน 282 คัน ซึ่ง แอคคอร์ด โฉมปัจจุบัน ได้ทำตลาดมากว่า 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2562
นาทีนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า คัมรีกำลังมีแต้มต่อจากความสดใหม่ของเทคโนโลยีและการดีไซน์ในรถรุ่นใหม่ และน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ คัมรี ยังคงรักษาความเป็นผู้นำกลุ่ม D Segment ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ไปอีกระยะหนึ่ง