ตลอด 4 วันของการจัดงาน ได้รับกระแสการตอบรับการจัดงานจากทั่วโลก มีผู้เข้าร่วมงานมากถึง 69,700 คน และเกิดการมีส่วนร่วม (Engagement) มากกว่า 181,000 ครั้ง โดยเป็นผู้เข้าร่วมชมงานจากต่างประเทศมากถึง 14,720 คน มี 4 ประเทศที่เข้าชมงานสูงสุด ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และจีน รวมทั้งมีสถิติการรับชมงานผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ของ NIA และ Startup Thailand ที่มากถึง 5 ล้านคน
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด DeepTech Rising ของงานในปีนี้ คือ การเข้าชมงานและมีส่วนร่วมกับงานจากคนไทย มากถึง 55,000 คน ทั้งที่เป็นเนื้อหาใหม่ และยากที่จะเข้าใจ ซึ่งการประมวลผลของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) แสดงว่า ความสนใจของคนไทยพุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) มากขึ้น โดยเฉพาะด้านเกษตร (AgTech) อาหาร (FoodTech) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนสําหรับบุคคล (AI Robotic Immersive IoT: ARI-Tech)
ทิศทางและแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก ของไทย ได้รับการบอกเล่าและแบ่งปันประสบการณ์ผ่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 80 คนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและสตาร์ทอัพ ที่มาพร้อมการนำเสนอผลงานและนวัตกรรมเชิงลึกฝีมือคนไทย พร้อมข้อเสนอแนะในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกของไทยว่าจะเดินหน้าไปต่ออย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า 1) ส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรม 2) ส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยด้านเทคโนโลยีเชิงลึก และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ 3) พัฒนาคนตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ สร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โดยโอกาสได้เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ..... ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และเมื่อมีการประกาศใช้จะเกิดกลไกสร้างความสมดุลและสิทธิของเจ้าของผลงาน ช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของนักวิจัยไทยมากขึ้น