“จะดีแค่ไหน...ถ้ายางพารามีมูลค่ามากกว่าที่เป็นอยู่
จะดีแค่ไหน...ถ้าสินค้าไทยช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากต่างชาติได้
จะดีแค่ไหน...ถ้ามีสินค้าจำเป็นต้องใช้ แต่หาซื้อได้ในราคาที่คุ้มค่ากว่าที่เคย
แล้วจะดีแค่ไหน...ถ้าเป้าหมายในการจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ครอบครัวของตัวเราเองแผ่กระจายขยายไปสู่เกษตรกรสวนยางและประเทศไทยได้ในอนาคต”
มุมมองความคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของ คุณณัฐวี บัวแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีฟินน์ รับเบอร์เทค จำกัด ที่จุดชนวนธุรกิจ “รองเท้าโคนมเพื่อสุขภาพ Deeco” ให้เกิดขึ้น
Deeco แรงผลักดันจากชีวิตที่ติดลบ
หลายครั้งที่จุดต่ำสุดของชีวิตเหยียบย่ำซ้ำเดิมให้ผู้คนท้อแท้หมดหนทางสู้ แต่ก็มีหลายครั้งที่มันกลายมาเป็นแรงผลักดันให้ใครหลายๆ คน ลุกขึ้นสู้ให้ถึงที่สุดเพื่อมีชีวิตรอดต่อไปในแบบที่ “ต้องดีกว่าเดิม”
เช่นเดียวกับ คุณณัฐวี ที่เริ่มต้นทุกอย่างจากชีวิตที่ติดลบ
คุณณัฐวี ฉายภาพกลับไปยังจุดเริ่มต้นตั้งแต่แนวคิดการทำธุรกิจว่า เขาเคยมีชีวิตที่ดีกระทั่งสูญเสียคุณพ่อไปในช่วงมหาวิทยาลัยปี 1 ในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตของเขาตกต่ำที่สุด เขามีหนี้ก้อนโตที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน มีบ้านที่กำลังจะถูกประกาศขายทอดตลาดหันไปทางไหนก็ไม่มีใครยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือ
หนุ่มน้อยวัยเริ่มต้นชีวิตมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องแบกรับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวจัดการเรื่องราวทุกอย่างด้วยตัวเอง เขาตัดสินใจขายทุกอย่างที่มีเพื่อใช้หนี้จะเหลือก็แต่สวนยางเพียงแปลงเดียวที่ทำให้เขาต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เขาจะทำอย่างไรให้ยางพาราที่เขามีนำพาชีวิตดีๆ มาสู่ครอบครัวได้”
อย่างที่รู้กันดี ราคายางพาราช่วง 10 กว่าปีให้หลังมานี้ ไม่สามารถสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้เกิดขึ้น ครั้นจะกรีดยางต่อไปก็คงไม่ต่างอะไรกับชีวิตในแบบเดิม เขาจึงเกิดความคิดว่า เขาจะต้องสร้างมูลค่าจากยางพาราของเขาให้ได้
ความโชคดี คือ คุณณัฐวี เป็นคนอยู่ไม่นิ่ง มีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เขาเป็นนักคิดที่ชอบจะมองหาและลงมือทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ เขาเริ่มจากการแปรรูปยางพารามาเป็นถุงเพาะชำซึ่งก็ให้ผลตอบรับที่ดี ทำให้เขามีรายได้ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน และถูกขนานนามว่า “หนุ่มใต้เจ้าของไอเดียถุงเพาะชำจากยางพารารายแรกของโลก” แต่นั่นก็ยังไม่ใช่คำตอบเพราะการจะทำถุงเพาะชำสักใบต้องใช้น้ำยางในปริมาณมากถึง 50%
คุณณัฐวี ที่ค้นพบว่าตัวเองชอบและสนุกกับการได้ลงมือทำ ได้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ยังคงคิดต่อไปว่า เขาจะทำอย่างไรให้สามารถใช้ยางพาราได้อย่างคุ้มค่าที่สุดจนตกตะกอนความคิดออกมาเป็นสินค้าชิ้นใหม่อย่าง “รองเท้าวัวชน”