เวลานี้คนที่ติดตามข่าวสารในแวดวงการเงินไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มักจะเห็นคำว่า FinTech สอดแทรกเข้าไปอยู่ด้วยเสมอ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า "อุตสาหกรรมการเงิน" นั้นเป็นกระดูกสันหลังในระบบเศรษฐกิจของโลกมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
มาจนถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเงินกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ผ่านสิ่งที่เราเรียกกันว่า FinTech
ถามว่าการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างขนาดไหน ???
คำตอบก็คือ การปฏิวัติทางการเงินในครั้งนี้จะเกิดขึ้น "รุนแรง" และ "รวดเร็ว" แบบชนิดที่ไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อนบนโลกธุรกิจใบนี้
FinTech
การเงินในศตวรรษที่ 21
FinTech เกิดจากคำสองคำมารวมกัน คือ Financial และ Technology แปลตรงตัวได้ว่า ระบบธุรกรรมทางการเงินที่มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกรรม
หลายคงฟังแล้วอาจจะสงสัยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ FinTech ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเรามีบัตรเครดิตใช้มาเกือบ 70 ปี มีบัตร ATM ใช้มาราว 50 ปี มี Internet Banking ใช้มาก็ไม่ต่ำว่า 30 ปี
ที่ยกตัวอย่างมานั้นคือ FinTech ทั้งหมดถูกต้องแล้วครับ
เพียงแต่ว่า FinTech ในยุคบุกเบิกกับยุคปัจจุบันนั้นมีปัจจัยที่สนับสนุนให้แจ้งเกิดที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน โดยในยุคก่อนการพัฒนาของ FinTech เกือบทั้งหมดจะเป็นการทำแบบระบบปิดของใครของมัน รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานหลายๆ อย่างก็ยังไม่พร้อมเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับสมัยนี้ที่มีความพร้อมในเกือบทุกด้าน
จึงไม่แปลกใจที่ FinTech จะถูกขนานนามว่าเป็นระบบการเงินในศตวรรษที่ 21
คราวนี้เราลองมาดูปัจจัยบวกที่เป็นเหมือนลมใต้ปีกของ FinTech กันทีละประเด็น
1. นโยบายภาครัฐมุ่งสู่ Digital Economy
การประกาศนโบายเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็น Digital Economy ของรัฐบาลชุดนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ 3 อย่างคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมารองรับการเจริญเติบโต, การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐง่ายขึ้นผ่านระบบดิจิตอล และการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในธุรกิจดิจิตอลมากขึ้นตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่ทางภาครัฐจะสนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่เป็น New Growth หรือ S-Curve มากขึ้น
5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมนี้ประกอบไปด้วย
1.Food, Agriculture and Bio-technology
2.Health, Wellness and Biomedical Technology
3.Smart Devices, Robotics and Mechatronics
4.Digital, IOT, Artificial Intelligence and Embedded Technology
5.Creative, Culture and High-Value Services
สำหรับ FinTech จะเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ 4 เป็นพิเศษ เพราะกลุ่มธุรกิจที่ทางรัฐบาลมองเห็นแนวโน้มการเติบโตก็คือ FinTech, Education Tech, E-Market Place , E-Commerce, Service Enhancement
ที่ผ่านมาทางกระทรวงการคลังก็ได้มีการเปิดตัว National e-Payment หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติไปแล้ว คือ Prompt Pay ซึ่งเป็นบริการโอนเงินและรับเงินโอนที่ผูกบัญชีเงินฝากธนาคารกับหมายเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินสะดวกและประหยัดขึ้นเพราะหลายธุรกรรมไม่มีค่าธรรมเนียม หรือมีก็ถูกมาก ที่สำคัญคือทางภาครัฐยังมีแผนขยายบริการของพร้อมเพย์ไว้อีกมากมายในอนาคต
2. ความพร้อมของเทคโนโลยี
ความพร้อมเทคโนโลยีที่กำลังพูดถึงนี้ คือเทคโนโลยีสื่อสารและโทรคมนาคมของไทยที่พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ประเทศไทยมีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ทันสมัยอย่าง 4G และหลายค่ายก็เริ่มมีการทดสอบระบบ 5G กันบ้างแล้ว ส่วนการใช้งานอินเตอร์เน็ต
ถ้าเราลองอัพเดทตัวเลขล่าสุดจะพบว่า จากจำนวนประชากรของไทย 68 ล้านคน แต่กลับมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนมากกว่าจำนวนประชากรมากถึง 147% ส่วนจำนวนสมาร์ทโฟนในประเทศก็มีผู้ใช้มากถึง 49% ของจำนวนประชากร นอกจากนี้แล้วยังมีคนไทยที่สามารถเข้าถึงระบบสื่อสาร 3G คิดเป็นตัวเลข 83 ล้านเลขหมาย และมีตัวเลขคนที่เข้าถึงระบบ 4G ถึง 10.8 ล้านเลขหมาย
ข้อมูลจากบริษัท โธธ โซเชียล จำกัด ที่อัพเดทเมื่อเดือนพฤษภาคม 2016 พบว่า คนไทยใช้ Facebook มากถึง 41 ล้านคน คิดเป็น 60% ของประชากรไทย, ใช้ Line 33 ล้านคน, ใช้ Instagram 7.8 ล้านคน โตขึ้น 74% มียอด Active User 1 ล้านคน, ใช้ Twitter 5.3 ล้านคน มียอด Active User 1.2 ล้านคน โตขึ้น 18%
3. ความพร้อมด้านพฤติกรรม
ทุกวันนี้ถ้าเราลองสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้าง เราจะพบว่าพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว
เรียกว่าตั้งแต่ตื่นนอนยันหลับคนส่วนใหญ่จะติดหนึบอยู่กับสมาร์ทโฟน ว่างเป็นก้มหน้าเล่นมือถือกันทั้งวัน ขณะที่ 4-5 ปีก่อนเรายังไม่เป็นกันขนาดนี้
พบว่าในแต่ละวันคนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับ Social Network อย่างต่ำมากถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง หมายความว่า ชีวิตประจำวันของเราในปัจจุบันผูกติดอยู่กับโลกดิจิตอลตลอดเวลา
ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ภาคการบริการทั้งหมดจึงต้องปรับตัวตามด้วยการพยายามเข้ามาวิ่งวนในหน้าจอมือถือของเรา
การเปลี่ยนแปลงนี้คือปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ FinTech เข้ามามีอิทธิพลกับเรามากขึ้นในอนาคตอันใกล้
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ Gen Y, Z ที่เปิดรับเทคโนโลยีเร็วมาก สมัยก่อนตอนที่ธนาคารเปิดให้บริการ ATM คนรุ่นเก่าก็มองว่ายังไม่มีความปลอดภัยและเลือกที่จะไปสาขาเวลาต้องการเบิกเงิน แต่คนรุ่นใหม่นี้ไม่ใช่
ทุกวันนี้อย่างว่าแต่บัตร ATM เลย เรากำลังอยู่ในยุคของ Mobile Banking ที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟน หรือจะเป็นพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ สมัยนี้คนก็กล้าที่จะซื้อออนไลน์ทั้งผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันบนสังคมดิจิตอลไปแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าคน Gen Y, Z นั้นเติบโตมาพร้อมกับโลกของดิจิตอล หรือเป็น Digital Nativeต่อแบรนด์ที่ไม่อย่างที่ นี่คือตัวอย่างของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนี้เองที่เป็นตัว Drive ตลาด FinTech ให้มีการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง