บทพิสูจน์ความแข็งแกร่ง
ในปีที่ผ่านมาสำหรับธุรกิจอสังหาถือเป็นปียากลำบากนับจากวิกฤตต้มยำเป็นต้นมา เพราะปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยนั้น ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์ COVID-19 กลับส่งผลให้ทุกคนเกิดความตระหนกในทุกๆ ด้าน ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ ดีเวลลอปเปอร์หลายรายจึงชะลอเปิดตัวโครงการออกไป เนื่องจากความผันผวนของดีมานด์ที่ลดลง โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่ค่อนข้าง Sensitive กับสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ อีกทั้งกำลังซื้อจากต่างชาติที่หดตัวลง เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางเข้าออกประเทศ จึงไม่แปลกที่ผลประกอบการของดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่จะปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตามภาพรวมของเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี
แต่สำหรับเอพี ไทยแลนด์ กลับเติบโตสวนกระแสวิกฤต ในปีที่ผ่านมาเอพีมีกำไรสุทธิมากถึง 4,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% และมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเพียง 0.71 เท่า จากเดิม 1.03 เท่า ถือเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดนับจากต่อตั้งธุรกิจมาอีกด้วย ด้านตัวเลขผลประกอบการปีที่แล้วมีรายได้รวมสูงถึง 46,130 ล้านบาท เติบโตกว่า 42% จากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการเติบโตของกลุ่มธุรกิจบ้านเดี่ยว ที่เติบโตจากรายได้หลักพันล้านสู่หลักหมื่นล้านภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งในปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจบ้านเดี่ยวของเอพีสามารถสร้างรายได้ที่เป็น New Record ใหม่ที่มากถึง 12,137 ล้านบาท จาก 4,990 ล้านบาทในปี 2517
คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาช่วงที่เริ่มมีการล็อกดาวน์ บริษัทได้ทำการหยุดซื้อที่ดินทันที แล้วหันไปโฟกัสให้เกิดกระแสเงินสดให้ได้มากที่สุด ชะลอตัวการเปิดโครงการใหม่โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม โดยจะสร้างบ้านที่พร้อมขายแล้วเท่านั้น นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้เอพี ไทยแลนด์ เติบโตบนพื้นฐานการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยสัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ และมีกระแสเงินสดจำนวนมากอยู่ในมือ
“ช่วงสถานการณ์เดือนมีนาคมถึงเมษายนของปีที่ผ่านมา หลายคนทำอะไรไม่ถูก พนักงานของเราเองก็เริ่มกังวลถึงความมั่นคงของบริษัทและตัวเขาเอง สิ่งที่เราทำทันทีคือ การสื่อสารกับพนักงานให้เขารู้ถึงสถานะของบริษัท และย้ำกับทุกคนว่า ผมมั่นใจว่าวิกฤตครั้งนี้เอพีจะผ่านไปได้ และหลังผ่านวิกฤตนี้ไปเอพีจะโตขึ้นอีก”
ตัวเลขดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวจริงในวงการอสังหา ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ แต่เกิดจากการทรานส์ฟอร์มองค์กรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคตื่นตัวจากกระแส Digital Disruption สู่การเดินหน้ายกเครื่อง Vision/Misson ใหม่ที่วันนี้ EMPOWER LIVING ได้กลายมาเป็นเข็มทิศสำคัญในการขับเคลื่อนเอพีให้ก้าวผ่านมรสุมลูกใหญ่ได้อย่างสวยงาม รวมถึงการนำหลัก Outward Mindset เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร และเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายใต้แนวความคิดแบบ Design Thinking ส่งผลให้เอพี ไทยแลนด์ มีความสามารถต่อการ Speed to Market ในทุกสถานการณ์
EMPOWER LIVING เจตจำนงที่ยิ่งใหญ่กว่าการสร้างบ้าน
“ข้อเสียของวิกฤตครั้งนี้คือ ลามไปทั่วโลกไม่มีใครช่วยใครได้ ต้องช่วยกันเอง ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โชคดีที่เอพี ได้ขยับตัวปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนวิตกกังวล ตามคำของแอนดี้ โกรฟ อดีตซีอีโอของ Intel ที่พูดว่า Only the Paranoid Survive ทำให้มองไปข้างหน้าแล้วรู้สึกว่าถ้า 5 ปีที่แล้ว หากเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรองค์กรเราคงไม่สามารถฝ่าฟันความท้าทายในปีที่ผ่านมาได้ เราจึงตระหนักถึงวิกฤตก่อนที่วิกฤตจะมาเสมอ โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า Business Model ที่เราทำอยู่นั้นต่างจากคนอื่นไหม และถ้าเกิดวิกฤตขึ้นเราจะรอดไหม” คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวย้อนถึงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในวันนี้
การตั้งคำถามในลักษณะนี้เองที่นำไปสู่การขยาย Vision / Mission ของเอพีครั้งใหม่ให้ใหญ่ และกว้างกว่าแค่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น โดยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกับบริษัทซับ โรซ่า ที่ปรึกษาทางด้านแบรนด์และทางด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีชื่อเสียงจากนิวยอร์ก ในการปรับแต่ง Mission / Vision ของเอพี ใหม่อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เอพีได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อศึกษาถึงทิศทางในการสร้างความได้เปรียบให้กับองค์กรจนนำมาสู่พันธกิจ “Provide Quality of Life - สร้างและจัดหาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้า”
จากการทำงานร่วมกับซับ โรซ่า ชี้ให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของแต่ละคนย่อมมีความหมายต่างกันไป ดังนั้น Vision/Mission ที่ดีต้องเป็นสิ่งที่เป็นมุมมองของลูกค้า ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทกำหนด นี่จึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์และพันธกิจ EMPOWER LIVING ซึ่งหมายถึง “Create and provide the support that enables people to live and enjoy life on their terms - พันธกิจสำคัญในการเป็นผู้สร้างและจัดหาสินค้าหรือบริการที่เกื้อหนุนให้ลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเอพี สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตที่ดี ในแบบที่ต้องการด้วยตนเอง”
“เอพีในปีนี้จะครบรอบ 30 ปี เราจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ได้อย่างไร ผมอยากเปรียบองค์กรเสมือนเรือที่ฝ่ามรสุมลูกใหญ่ ดังนั้นก่อนอื่นต้องรู้ทิศที่จะไปเพราะระหว่างนี้คลื่นลมจะทำให้เรือส่ายไปมา ซึ่งวันนี้ EMPOWER LIVING เปรียบเหมือนเป็น “เข็มทิศ” ในการนำทางให้พนักงานกว่า 2,000 คน เดินไปสู่ผลลัพธ์ที่เราตั้งใจ พอรู้ทิศแล้วต้องมีเครื่องมือที่พร้อมจะฝ่าฟันไปในทิศทางทีเราต้องการ และสุดท้ายคือความสามารถและการร่วมมือของบุคลากรในเรือลำนั้นที่จะใช้เครื่องมือนั้นอย่างมีประสิทธิภาพในเรือเพื่อให้เรือไปถึงจุดหมายที่วางไว้”
3 กลยุทธ์รับระเบียบโลกใหม่
เครื่องมือที่ว่านี้ก็คือกลยุทธ์ที่เอพี ไทยแลนด์ วางไว้ใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย
• Responsible Independent Leader สร้างให้ทุกคนเป็นผู้นำอิสระในการตัดสินใจ โดยมุ่งเน้นไปที่ความต้องการลูกค้ามากกว่าข้อจำกัดของบริษัท และให้อำนาจ (Empower) พนักงานที่อยู่หน้างานหรือสัมผัสกับลูกค้าโดยตรงในการตัดสินใจ ดีกว่าการรอนโยบายที่เกิดจากผู้บริหารเพียงไม่กี่คน ทำให้เกิดการตอบสนองลูกค้าได้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้เอพี ไทยแลนด์ ใช้ Outward Mindset เข้ามาเป็นกลไกในการพัฒนาบุคลากรทั้งองค์กรที่สอนให้คนทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข โดยการเข้าใจความต้องการ จุดมุ่งหมาย และความท้าทายของผู้อื่น และกระตุ้นสมาชิกทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะทำหน้าที่ในบทบาทใดหรือรับผิดชอบเรื่องใด จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้น
• Innovation Culture สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม ผ่านการปลูกฝังให้พนักงานทุกคน มีระบบการคิดตามหลัก Design Thinking โดยหลักการนี้เชื่อว่าทุกคนเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ได้ ถ้าได้เรียนรู้ การคิดวิเคราะห์อย่างมีกระบวนการเพื่อค้นหา Unmet Need ของลูกค้า
คุณอนุพงษ์ เผยเคล็ดลับความสำเร็จของการสร้างองค์กรเอพี ไทยแลนด์ ให้เป็นองค์ที่มีนวัตกรรม มาจากการผลักดันหลักการ Outward Mindset และ Design Thinking จากบนสู่ล่าง นั่นหมายถึงจะต้องเริ่มจากผู้นำองค์กรก่อน
“ก่อนหน้านี้ผมได้เรียนรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้การสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ประสบความสำเร็จเพราะผมใช้ให้คนอื่นหรือผลักหน้าที่ให้แผนกอื่นเป็นคนรับผิดชอบ ผมจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ในช่วงที่ผ่านมาเวลาผมไดรฟ์อะไรผมจะเข้าคลาสก่อนเลย โดยเฉพาะ Outward Mindset และ Design Thinking เพราะถ้าไม่รู้เรื่องเราคงไปไดรฟ์คนอื่นไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งเพื่อที่จะได้รู้ว่า คนที่ถูกไดรฟ์ด้วยหลักการนี้จะมีความรู้สึก หรือมีอุปสรรคอย่างไร”
• Everything Digital การทรานส์ฟอร์มทุกมิติของการดำเนินงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับลูกค้า พาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกับเอพี หรือพนักงาน เพื่อเป็นรากฐานสนับสนุน 2 ยุทธศาสตร์ข้างต้น
“การลงมืออย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองลูกค้า ตลอดจนการสร้างนวัตกรรม จำเป็นต้องมีข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่ของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ สิ่งที่เอพีทำคือเร่งดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือการสร้างทีมใหม่ที่บริษัทเรียกว่า Digital Transformation Team เพื่อทำงานประสานร่วมกับทีมไอที เดิมที่มีอยู่ เพื่อต่อยอดความสามารถในทางดิจิทัลและไอทีให้ไปได้เร็วยิ่งขึ้น และนำไปสู่การเสริมพลังให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัท ทั้งลูกค้า พาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกับบริษัทและพนักงาน”
โดยในมิติของลูกค้านั้น ปีที่ผ่านมา เอพี ไทยแลนด์ สร้างดิจิทัล เซอร์วิส แพลตฟอร์มภายใต้ชื่อ Smart World เกิดจาการผสมผสานวิธีคิดภายใต้หลัก Design Thinking เข้ากับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยมอบความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับลูกค้าได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งนอกเหนือจากฟีเจอร์งานบริการขั้นพื้นฐานที่ตอบสนองการใช้ชีวิตในประจำวันแล้ว จุดต่างของ Smart World คือการให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนให้เกิดขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์กับออนไลน์เข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ผ่านกิจกรรมและอีโคซิสเต็มต่างๆ ที่บริษัทพัฒนาขึ้น โดยปัจจุบัน เอพีมีลูกค้าใช้งาน Smart World แล้วกว่า 60,000 ยูสเซอร์ มียอดการเปิดใช้เฉลี่ยต่อสัปดาห์ประมาณ 30,000 ยูสเซอร์ ตั้งเป้าในปีนี้เป็น 100,000 ยูสเซอร์ พร้อมแผนการพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง