อย่างไรก็ตาม เมื่อมองมาที่ผู้ร่วมสนุกกับแคมเปญนี้ พบว่ามีผู้ส่งรหัสเข้ามาชิงโชคทั้งหมด 3,098,804 รหัส แบ่งออกเป็น การส่งรหัสผ่าน SMS 1,702,563 รหัส เว็บไซต์ 1,161,434 รหัส และเฟสบุ๊ค234,807 รหัส เมื่อเทียบกับแคมเปญโปรโมชั่นของ 2 คู่แข่งอย่างโออิชิและอิชิตันแล้ว ถือว่าน่าจะน้อยกว่าของทั้งคู่ อาจจะเป็นเพราะโออิชิและอิชิตัน มีการขยายฐานการดื่มเข้าไปในกลุ่มที่แมสกว่า
ขณะที่เพียวริคุ จะเล่นกับกลุ่มคนดื่มที่เป็นวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ จึงใช้เครื่องมืออย่าง SMS เว็บไซต์ หรือเฟสบุ๊คเป็นช่องทางในการเข้าถึงและร่วมสนุกกับแคมเปญโปรโมชั่นที่ยิงออกมา โดยเพียวริคุ เลือกที่จะทำแคมเปญหลังจากที่แคมเปญทัวร์ยกแก๊งของโออิชิ และอิชิตันหมดลง เพื่อรอให้ความแรงของแคมเปญที่คู่แข่งยิงออกมาหมดลง เพราะทั้งโออิชิ และ อิชิตัน มีการทุ่มงบตลอดจนใช้ทุกเครื่องมือในการสร้างกระแสให้กับแคมเปญโปรโมชั่นที่ทำ
ผลจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดชาเขียวในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะกับการเปิดสงครามโปรโมชั่นของแบรนด์ท็อปทรีทั้ง 3 แบรนด์ คือโออิชิ อิชิตัน และเพียวริคุ กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ตลาดชาเขียวในช่วง 7 เดือนแรกของปี2555 มีตัวเลขการเติบโตออกมาค่อนข้างดี ในช่วงเวลานั้น ตลาดชาเขียวมีตัวเลขการเติบโตสูงถึง 43% ส่วนตลอดทั้งปี 2555 ตลาดจะมีตัวเลขเติบโตอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาดเครื่องดื่มตัวอื่นๆ
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับสงครามโปรโมชั่นในตลาดชาเขียวก็คือ ทั้งเพียวริคุ โออิชิ และอิชิตัน ต่างก็มีการสร้างโปรโมชั่นที่เป็น Signature ของตัวเองออกมา และมีการทำต่อเนื่องจนกลายเป็นอีเวนท์ประจำปีที่เมื่อเห็นโปรโมชั่นที่แต่ละรายยิงออกมาแล้ว จะได้กลิ่นอายที่เชื่อมโยงมาสู่แบรนด์ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการทำแคมเปญโปรโมชั่น ที่มีออกมามากกว่าแค่การเพิ่มยอดขาย....