ยิ่งยง วิทยานานันท์ ผู้บริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-ประเทศไทย) กล่าวถึงงานวิจัยฉบับล่าสุด WWF Living Planet Report 2020 ที่สอดรับกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น โดยระบุว่า ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของประชากรและสังคมมนุษย์ ก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติที่มากเกินพอดี จนทรัพยากรธรรมชาติที่โลกมีอยู่กำลังเสื่อมโทรมลง และกำลังลดลงในอัตราที่น่าวิตก “งานอนุรักษ์จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่จะช่วยเยียวยา และช่วยให้อัตราการทำลายธรรมชาติเป็นไปอย่างช้าลง เพื่อให้เรายังคงสามารถรักษาทรัพยากรของโลกไว้สำหรับคนรุ่นต่อไปได้”
ปรัศนีย์ ทิพย์รักษา ผู้ประสานงาน องค์การจัดการด้านป่าไม้ ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ประเทศไทย) กล่าวถึงความวิตกกังวลในเรื่องนี้ว่า “เรากำลังอาศัยอยู่ในโลกที่ทรัพยากรธรรมชาติกำลังหมดลง การจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบในทุกอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่จะช่วยให้เราหยุดยั้งและแก้ไขปัญหานี้ได้ สำหรับเยื่อและกระดาษ การนำวัตถุดิบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC™ (Forest Stewardship Council™) มาใช้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญและมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการรับประกันว่ากระดาษที่บริษัทนำมาใช้มาจากป่าปลูกทดแทนที่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน FSC ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นโซลูชั่นการจัดการป่าไม้ที่เชื่อถือได้มากที่สุด และเป็นมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของเยื่อและกระดาษที่มีการจัดหามาจากแหล่งป่าไม้ที่มีการจัดการอย่างรับผิดชอบซึ่งผ่านการรับรองโดย FSC”
เต็ดตรา แพ้ค เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ในอุตสาหกรรมนี้ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC เมื่อปี พ.ศ. 2550 และในวันนี้บรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มทั้งหมดของเต็ดตรา แพ้ค ผ่านการรับรองมาตรฐาน FSC แล้วทั้งสิ้น สำหรับในประเทศไทย บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC มาตั้งแต่ช่วงแรกในปี พ.ศ. 2553 โดยปัจจุบัน สามารถส่งมอบกล่องเครื่องดื่มที่ติดฉลาก FSC ไปแล้วมากกว่า 26,000 ล้านกล่อง
ปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่ยั่งยืนโดยยึดถือเรื่องความปลอดภัยทางอาหารเป็นสำคัญและส่งเสริมการลดปริมาณขยะอาหารมาอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีของเราช่วยยืดอายุของอาหารบนชั้นวางสินค้าและช่วยเก็บรักษาอาหารให้ปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องแช่เย็นหรือใช้สารกันบูด”