ขณะที่ซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้าเอง ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมาที่เชนโมเดิร์นเทรดทรงอิทธิพลขึ้นมานั้น พวกเขามีการตั้งแผนกที่เรียกว่า “เทรด มาร์เก็ตติ้ง” เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการทำการตลาดร่วมกับเชนค้าปลีกในการช่วยให้สินค้าสามารถขายได้ดีขึ้น ทั้งการจัดโปรโมชั่นร่วมกัน หรือการทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ย่อหน้าแรกๆ แล้วว่า ในโมเดิร์นเทรดมีการนำระบบสเปซ แมเนจเม้นต์มาใช้บริหารพื้นที่ขายบนเชลฟ์ หากไม่มีการทำการตลาดเพื่อสนับสนุนการขาย โอกาสที่สินค้าจะโดนเบียดตกจากเชลฟ์ก็มีไม่น้อย แผนกนี้จึงถูกให้ความสำคัญค่อนข้างมาก
ความสำคัญนี้ ยังรวมถึงในกรณีที่เชนใดเชนหนึ่งจัดรายการโปรโมชั่น แล้วไปกระตุ้นให้เชนคู่แข่งขันต้องจัดตาม พวกเขาจะพยายามเข้าไปดูในเรื่องของการจัดรายการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของราคา เพื่อไม่ให้โครงสร้างด้านราคาเสียไปมากนัก
การทำตลาดในช่องทางโมเดิร์นเทรดจึงมีต้นทุนทางการตลาดที่ค่อนข้างสูง นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เจ้าของสินค้าต้องหันมาให้น้ำหนักในการทำตลาดผ่านช่องทางขายแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า เทรดิชั่นนัล เทรด หรือ TT กันมากขึ้นในปัจจุบัน
แม้จะถูกมองว่า ช่องทางการขายแบบดั้งเดิมประเภทร้านยี่ปั๊วและโชวห่วยได้รับผลกระทบจากการรุกเข้ามาของยักษ์ใหญ่โมเดิร์นเทรด แต่ช่องทางขายประเภทนี้ก็ยังคงบทบาทสำคัญของมันอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะกับการเป็นช่องทางขายที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรากหญ้าที่กระจายอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ
การคงบทบาทสำคัญนี้ ทำให้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของสินค้า ต่างร่วมใจกันเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้าดั้งเดิมให้สามารถยืนได้อย่างมั่นคงในตลาด
ในแง่ของซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้าเอง นอกจากการเข้ามาพัฒนาร้านค้าย่อยให้มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งในแง่ของการบริหารสต๊อก การเรียงสินค้าให้ดูน่าซื้อ รวมถึงการช่วยให้คำแนะนำในการหารายได้เพิ่มจากช่องทางอื่นๆ นอกเหนือการขายสินค้าแล้ว ซัพพลายเออร์ทั้งหลายยังมีการแบ่งช่องทางเทรดิชั่นนัล เทรดกับโมเดิร์นเทรดออกจากกันในการทำตลาดอย่างสิ้นเชิง
ตัวแบ่งอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของไซส์ซิ่งของสินค้าที่สินค้าในไซส์เล็กจะถูกผลักดันเข้าไปในช่องทางนี้ ขณะที่สินค้าที่ไซส์ใหญ่ขึ้นมาหน่อยจะวางขายในโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก แม้เทรนด์ของตลาดจะเริ่มมาที่สินค้าไซส์ใหญ่มากขึ้น แต่สินค้าที่วางขายในช่องทางเทรดิชั่นนัลเทรดก็ยังคงมีขนาดที่แตกต่างจากโมเดิร์นเทรดอย่างสิ้นเชิง
ระบบการขายผ่านร้านค้าแบบดั้งเดิมนี้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันจะมีทั้งที่เป็นเรื่องของยี่ปั๊วที่ขายส่งเข้าร้านซาปั๊วหรือร้านโชวห่วยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในอดีตร้านยี่ปั๊วหลายรายมีการสร้างระบบหน่วยรถเพื่อเจาะตรงเข้าเทคออร์เดอร์ถึงร้านโชวห่วย ก่อนที่ยี่ปั๊วที่ทำหน่วยรถเริ่มจะมีน้อยลง และพัฒนามาสู่การเป็นยี่ปั๊วพันธุ์ใหม่ที่ขายส่งหลังร้านและเพิ่มขายปลีกในรูป แบบของซูเปอร์สโตร์หน้าร้านเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นลูกค้ารายย่อยโดยตรง
ส่วนหนึ่งของการหายไปของยี่ปั๊วที่ขายแบบหน่วยรถนั้น นอกจากเรื่องของต้นทุนในการบริหารจัดการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ยังมีเรื่องของการที่เจ้าของสินค้าเองมีการตั้งตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นเซลส์ฟอร์ซในการเจาะตรงเข้าร้านค้าย่อยผ่านหน่วยรถขาย เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในกรณีที่เป็นค่ายใหญ่ที่มีศักยภาพในการสร้างเครือ ข่ายตรงนั้นได้แข็งแกร่งและครอบคลุมมากกว่า เพราะการมีหน่วยรถที่เจาะตรงเข้าถึงร้านค้าย่อยในรอบการวนทริปที่มากกว่า ย่อมหมายถึงโอกาสในการผลักดันสินค้าได้มากขึ้นตามไปด้วย
การสร้างเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งของตัวเองขึ้นมานั้น ผู้เล่นรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นยูนิลีเวอร์ พีแอนด์จี คอลเกต หรือสหพัฒน์ ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่านี้ มีซัพพลายเออร์บางรายอย่างคาโอ หันไปใช้วิธีการสร้างหน่วยรถ และการขยายบริษัทสาขาเข้าไปในพื้นที่เพื่อจัดจำหน่ายเอง
สำหรับซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้าแบรนด์เล็กๆ ที่ไม่มีเงินทุน หรือศักยภาพมากพอ จะใช้วิธีการขายสินค้าผ่านดิสทริบิวเตอร์ หรือบริษัทจัดจำหน่ายที่ในปัจจุบันมีการนิยามตัวเองให้เป็นพันธมิตรในกาช่วยขยายฐานการขายให้กับเจ้าของสินค้า ดิสทริบิวเตอร์ในบ้านเรามีหลายรายที่รับกระจายสินค้าเข้าร้านค้าย่อย อาทิ DKHS เดอเบล ของค่ายกระทิงแดง โอสถสภา สิงห์ เป็นต้น