การตลาดที่เน้นการ “ปฏิรูป”
ตามที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นว่าจุดขายที่สำคัญของแบรนด์อีซูซุ คือ “ความคุ้มค่าเงินสูงสุด” (Best Value for Money) ดังนั้น การสร้าง Brand Key Message ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายจึงมีพื้นฐานมาจาก Brand Character ดังกล่าวนั้นด้วย
สำหรับการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ “All-New Isuzu D-Max” ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิศวกรอีซูซุที่มีความเชี่ยวชาญและ ประสบการณ์ด้านเทคโนโลยียานยนต์อย่างสูง เพื่อให้เป็น “ยนตรกรรมที่เหนือกว่าคำว่าปิกอัพ” (Beyond the Pickup) ภายใต้แนวคิด Bold, Emotional and Smart นำไปสู่ดีไซน์ใหม่หมดในทุกมิติจากภายนอกจรดภายใน เครื่องยนต์ใหม่ แพลตฟอร์มใหม่ ความปลอดภัยใหม่ พร้อมนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ความสมบูรณ์แบบในทุกฟังก์ชั่นที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น สร้างมาตรฐานใหม่ของรถปิกอัพให้เป็นรถที่สะท้อนรสนิยมของผู้ที่ได้ครอบครอง
“เราจึงสร้าง Brand Key Message สำหรับรถรุ่นนี้ว่า “พลานุภาพ...พลิกโลก” เพราะพลังและอานุภาพของรถ รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่หมดนี้ทั้งในด้านดีไซน์และเครื่องยนต์จะพลิกประวัติศาสตร์ของวงการรถปิกอัพ ซึ่งได้ผลตามความคาดหมายเพราะ “All-New Isuzu D-Max” ออกจำหน่ายในช่วงปลายปีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 และได้รับกระแสตอบรับอย่างดียิ่ง จนลูกค้าบางส่วนเรียกรถรุ่นนี้ว่ารุ่น “พลานุภาพ...พลิกโลก” ส่งผลให้รถปิกอัพ “All-New Isuzu D-Max” ครองอันดับ 1 ในปี 2563 โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการดำเนินงานของอีซูซุ คือ 43.9%”
อย่างไรก็ตาม แนวคิดหลักในการดำเนินงานของตรีเพชรอีซูซุเซลส์ในปีที่ผ่านมา และปีนี้ คือ “การปฏิรูป” (Transformation) หมายถึง การปฏิรูปด้านดิจิทัล (Digital Transformation) และการปฏิรูปการดำเนินงาน (Operational Transformation) โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายนปีที่แล้ว อีซูซุได้จัดตั้ง “สำนักงานวางแผนและบริหารยุทธศาสตร์ดิจิทัล” (Chief Digital Officer Office) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการปฏิรูปด้านดิจิทัลเชิงรุก
ไม่เฉพาะแต่เพียงธุรกิจของบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด แต่ยังรวมถึงธุรกิจของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มตรีเพชรด้วย และยังได้เพิ่มจำนวนพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล ดีไซเนอร์ ด้าน UX หรือ User Experience กับ UI หรือ User Interface อีกด้วย
ในด้านการปฏิรูปการดำเนินงานนั้น การทำงานจากบ้าน (Work From Home) ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสที่จะปรับปรุงวิธีการทำงานต่างๆ มากมายว่ามีการงานใดในหน่วยงานใดบ้างที่สามารถยกเลิกลดความถี่ลง หรือปรับรูปแบบให้ง่ายขึ้นได้ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยการติดต่อสื่อสารออนไลน์โดยพิจารณาจากด้านต้นทุนและประสิทธิภาพเป็นสำคัญ
อีซูซุประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในปี 2563 เป็นปีแห่งสถิติสูงสุดในหลายๆ ด้าน กล่าวคือ การเป็นแบรนด์ รถยนต์หลักเพียงแบรนด์เดียวในตลาดรถยนต์เมืองไทยที่มียอดจำหน่ายสูงกว่าปี 2562 ถึง 7.7% ในขณะที่ตลาดรถยนต์โดยรวมหดตัวลงอย่างมากถึง 21.4%
ขณะที่อีซูซุครองอันดับ 1 ในตลาดรถปิกอัพด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือ 43.9% และครอง อันดับ 1 ในตลาดรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงกว่า 50%
“ความท้าทาย” ครั้งใหม่
สำหรับปี 2564 เสมือนเป็น “ช่วงเวลาทอง” ของอีซูซุที่ได้รับกระแสความแรงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด และผู้จำหน่ายอีซูซุทั่วประเทศจะผนึกกำลังร่วมกันปรับปรุงประสิทธิภาพการ ดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้น เพราะถ้าเป็นกรณียอดขายตกต่ำต่อเนื่อง การปรับปรุงการดำเนินงานจะทำได้ยาก
นอกจากนี้ อีซูซุ ยังเน้นความสำคัญของการบริการตามแนวคิด “Omotenashi” หมายถึง “จิตวิญญาณการ บริการแบบญี่ปุ่น” โดยเราได้เริ่มนำแนวคิดนี้มาเริ่มปฏิบัติจริงตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสร้างความแตกต่างจากบริษัทคู่แข่ง และขยายขอบข่ายประชาคมอีซูซุให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
“เรายังขยายธุรกิจรถมือสองภายใต้ชื่อ บริษัท โอมาคาเสะ คาร์ จำกัด (Omakase Car Co., Ltd.) อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับมาตรฐานการซื้อ-ขายรถมือสองในประเทศไทย ด้วยการเปิดสาขาใหม่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเน้นการจำหน่ายรถมือสองคุณภาพสูง ประวัติชัดเจนเชื่อถือได้ พร้อมการันตีการซ่อมบำรุงจากช่างผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินชั้นนำเพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการซื้อขายรถยนต์มือสอง”
คุณปนัดดา ยังคาดการณ์ว่าหลังจากนี้เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ขณะที่ตลาดรถยนต์โดยรวมอาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% ด้วยยอดจำหน่ายในตลาดรวมกว่า 860,000 คัน แต่ยังต้องมี การประเมินสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะมีปัจจัยที่น่ากังวลหลายประการที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ของไทย เช่น การระบาดระลอกใหม่ๆ ของ COVID-19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสดังกล่าวว่า จะมีผลอย่างไรต่อประสิทธิภาพของวัคซีน การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รวมถึงนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีต่อประเทศจีน เป็นต้น
“มาถึงวันนี้ อีซูซุ ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากว่า 64 ปี ประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นทั้ง “ความภูมิใจ” และเป็นบทพิสูจน์ของ “ความเชื่อมั่น” ที่ผู้ใช้รถชาวไทยมีต่อแบรนด์อีซูซุ เราไม่ต้องการที่จะ “ป่วย” เป็น “โรคขององค์กรขนาดใหญ่” (Big Company Disease) คือการที่ประสบการณ์จากความสำเร็จในอดีต ทำให้องค์กร ติดอยู่กับธรรมเนียมเดิมๆ ลังเลที่จะรับวิธีการใหม่ๆ และขาดสปิริตแห่งความท้าทาย
“เพราะด้วยขนาดขององค์กรที่ขยายใหญ่ขึ้น อาจจะก่อให้เกิดการแบ่งแยกการทำงานและไม่ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยง่าย เปรียบเสมือนเรือบรรทุกน้ำมัน หรือเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวช้าไม่คล่องตัว และไม่สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางการเดินเรือได้โดยง่าย”
โดยเป้าหมายของตรีเพชรอีซูซุเซลส์ คือ ความต้องการจะเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูง มีบรรยากาศการทำงานแบบ SME ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความท้าทายใหม่ๆ ของพนักงานที่มีความสามารถรอบด้านในการขับเคลื่อนบริษัทให้ก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
“เปรียบได้กับ “เรือลาดตระเวน” ที่มีเครื่องยนต์อันทรงพลัง น้ำหนักเบา รวดเร็ว และเคลื่อนไปยังทิศทางที่ต้องการได้โดยง่าย ดังนั้น แนวคิดหลักเรื่อง “ความยืดหยุ่น” (Flexibility)” และ “ความสามารถรอบด้าน” (Well-roundedness)” จึงเป็น “สปิริต” ที่ขาดไม่ได้สำหรับทั้งผู้บริหาร และพนักงานทุกคน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดรถยนต์เมืองไทยไว้ให้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” คุณปนัดดา กล่าว