ในพิธีเปิดงาน Mobile World Congress Shanghai 2021 เคน หู (Ken Hu) รองประธานหัวเว่ย กล่าวถึงประเด็นของโควิด-19ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศ องค์กร และผู้คนทั่วโลก รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีในการต่อสู้กับโรคระบาด
“นวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของการแก้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในวันนี้” เคน หู กล่าว “แต่เป็นเรื่องของการมองหาหนทางให้กับวันพรุ่งนี้ เมื่อเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว เราต้องตระหนักว่าเราจะสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างไรให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาธุรกิจให้ชาญฉลาดยิ่งขึ้น และสร้างโลกที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมด้วยกันมากยิ่งขึ้น” เขาอธิบายว่า ขณะที่ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทำให้ช่องว่างทางดิจิทัลขยายตัวกว้างขึ้น โรคระบาดยิ่งทำให้สถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงไปอย่างเห็นได้ชัด เราจึงต้องมุ่งเน้นให้นวัตกรรมเป็นสะพานเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างคนที่มีและคนที่ไม่มี รวมทั้งเป็นเครื่องมือผลักดันการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน (digital inclusion)
โควิด-19 ได้ทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ ๆ มากมายด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ทั้งนี้ หัวเว่ยได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการโครงข่ายจำนวนมากตลอดปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้เครือข่ายสัญญาณกว่า 300 เครือข่ายใน 170 ประเทศมีเสถียรภาพ ในอินโดนีเซีย หัวเว่ยได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่กับการขนส่งติดตั้งสถานีฐานกว่า 5,000 แห่งได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ในหนิงเซี่ย ประเทศจีน เราเตอร์แบบอินทิเกรต (integrated router) ของหัวเว่ยทำให้ผู้ใช้งานระดับองค์กรสามารถเข้าถึงระบบคลาวด์แบบ Multi-Cloud ได้ ซึ่งช่วยให้พวกเขาเคลื่อนย้ายข้อมูลสู่คลาวด์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย “เมื่อเรามองไปถึงแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เราจะต้องมั่นใจว่านวัตกรรมจะไม่ใช่แค่เรื่องของวันนี้ แต่เป็นเรื่องของการหาหนทางให้กับวันหน้า ร่วมถึงการสร้างมูลค่าทางสังคมให้มากขึ้น” เคน หู กล่าว
มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ เคน หูได้แนะนำแอพพลิเคชั่น Cyberverse ของหัวเว่ย ซึ่งเป็น แอพพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ขั้นสูง เพื่ออธิบายการผสานกันของโครงข่าย, อุปกรณ์ 5G และเทคโนโลยี AR เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมแบบเสมือนจริงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยหัวเว่ยหวังว่า Cyberverse จะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ มากมายให้แก่ภาคอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา บันเทิง การท่องเที่ยว การขนส่ง และหรือการนำทาง (Navigation)
มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อธุรกิจอัจฉริยะ
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เทคโนโลยีอย่าง 5G, คลาวด์ และ AI เริ่มมีบทบาทสำคัญในภาคการผลิต รวมถึงยังช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการดำเนินงานที่ชาญฉลาดและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้โครงข่าย 5G และแอพพลิเคชั่น AI ที่ปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ในเขตอุตสาหกรรมตงกวน ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตสำหรับสายการผลิตโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนได้เป็นอย่างมาก
หัวเว่ยได้คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2568 กว่า 97% ของบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหมดจะใช้งานเทคโนโลยี AI นอกจากนี้ยังได้ประมาณการว่า 55% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศจีนในปี พ.ศ. 2568 จะถูกขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจแบบดิจิทัล และรายได้กว่า 60% ของผู้ให้บริการระดับโลกจะมาจากลูกค้าระดับอุตสาหกรรม เคน หูยังกล่าวถึงการทำให้การคาดการณ์เกิดขึ้นได้จริงด้วยว่า “ทุกอุตสาหกรรมควรจะเน้นด้านการพัฒนาศักยภาพ สร้างอิโคซิสเต็ม และสร้างมูลค่าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”
ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน หัวเว่ยได้เน้นย้ำการพัฒนาเทคโนโลยี 5G อย่างจริงจังเพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม นอกจากนี้นายเคน หูยังได้กล่าวเสริมอีกด้วยว่านวัตกรรมของหัวเว่ยนั้นจะเน้นย้ำใน 3 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และแอพพลิเคชั่น