สิ่งที่ถูกนำมาสอดแทรกเข้าไปในเมสเสจที่ใช้ในการสื่อสารในช่วงแรกๆ ก็คือ การเปลี่ยนคำเรียกตัวสินค้าจากคำว่า “ผงชูรส” มาสู่การเรียกว่า “อูมามิ” แทน
ผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต 100% ค้นพบโดย ดร. คิคุนาเอะ คิเคดะ ที่สกัดผงชูรสจากสาหร่ายคอมบุมาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว โดยอายิโนะโมะโต๊ะ พยายามสื่อให้เห็นว่า เพราะอายิโนะโมะโต๊ะให้รสอูมามิ หรือรสอร่อยกลมกล่อม เป็นรสชาติที่ 5 ที่ต่อมที่ลิ้นเรารับรู้ได้นอกจากเปรี้ยว หวาน เค็ม ขม ซึ่งนอกจากอายิโนะโมะโต๊ะแล้ว วัตถุดิบธรรมชาติอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์ สาหร่าย เห็ดหอม และมะเขือเทศ ก็ยังให้รสอูมามิอีกด้วย เราจึงเรียกอายิโนะโมะโต๊ะว่า “เครื่องปรุงรสอูมามิ” ซึ่งเป็นเมสเสจที่ถูกนำมาสื่ออยู่พักใหญ่ๆ เพื่อเปลี่ยนทรรศนะคติของผู้บริโภคต่อสินค้าประเภทนี้
อายิโนะโมะโต๊ะ ทำการ Educate ตลาดแบบครบเครื่อง ทั้งการสื่อสารการตลาด การจัดอีเวนท์ในลักษณะของโรดโชว์ไปยังต่างจังหวัด รวมถึงการทำซีอาร์เอ็ม ที่มีการตั้ง “อายิโนะโมะโต๊ะ คุ้กกิ้ง คลับ” ขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับผู้บริโภคโดยเฉพาะกับการทำกิจกรรมเพื่อคืนกำไรสู่สังคม
ในแง่ของการสื่อสารนั้นนอกจากการยิงหนังโฆษณาที่สื่อถึงการเป็นผลผลิตจากธรรมชาติแล้ว ยังมีการใช้คอนเซ็ปต์การสื่อสารเดียวกับทั่วโลก ครั้งหนึ่ง อายิโนะโมะโต๊ะ พยายามสื่อให้เห็นถึงตัวโลโก้ของแบรนด์อายิโนะโมะโต๊ะ ที่ขึ้นต้นด้วย “A” ว่ามีความหมายถึง “อินฟินิตี้” ที่เป็นความสุขไม่รู้จบของคนทั่วโลก