นอกจากนี้แล้วผลการวิจัยในด้านรายละเอียด พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากแบรนด์อื่นๆ หรือคู่แข่งของแบรนด์นั้น มากที่สุด รองลงมาคือ พูดในแง่ลบเกี่ยวกับแบรนด์นั้น คนในครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท และน้อยที่สุด คือ ร้องเรียนกับหน่วยงานเกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับแบรนด์นั้น เช่น ร้องเรียนกับสำนักคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และขอเงินคืนจากแบรนด์ อย่างไรก็ดี จากผลการวิจัย พบว่า ผู้บริโภคไทยเลือกที่จะร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือฟ้องร้องทางกฎหมายในระดับน้อยถึงน้อยมาก อาจเพราะผู้บริโภครู้สึกว่า ไม่อยากเสียเวลาในการดำเนินคดี หรือหลีกเหลี่ยงการปะทะต่อแบรนด์สินค้าและบริการ
“การขอโทษ” ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคให้อภัย การให้ความเป็นธรรมคือกุญแจสำคัญ
ผลการวิจัยยืนยันว่า แม้ผู้บริโภคจะเกิดอารมณ์และพฤติกรรมเชิงลบต่อแบรนด์รุนแรงเพียงใด ก็ยังมีโอกาสที่จะให้อภัยแบรนด์ สนับสนุนแบรนด์ และรู้สึกเห็นอกเห็นใจแบรนด์ได้ หากแบรนด์ยอมรับและขอโทษ รวมถึงปรับปรุงและแก้ไขสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดอารมณ์เชิงลบ
ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริโภคมีการให้อภัย อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีการให้ภัยอย่างแน่นอน มากที่สุด รองลงมาคือ การให้อภัยแบบมีเงื่อนไข และ น้อยที่สุด คือ ไม่ให้อภัยแน่นอน โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ผู้บริโภคคิดว่าจะสนับสนุนแบรนด์นั้นต่อไป มากที่สุด รองลงมาคือ รู้สึกเห็นอกเห็นใจแบรนด์นั้น และน้อยที่สุด คือ ยกโทษให้แบรนด์นั้น แต่ไม่ซื้อหรือใช้บริการอีกต่อไป
นายวัลลภ กล่าวว่า “หากแบรนด์ขอโทษด้วยความจริงใจเพียงอย่างเดียว มีแนวโน้มจะได้รับการให้อภัยในระดับน้อย อาจเพราะผู้บริโภคคิดว่า การขอโทษเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกแบรนด์ควรแสดงออก และการขอโทษเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการให้อภัยของผู้บริโภค สิ่งสำคัญคือความยุติธรรมที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ ผู้บริโภคจะให้อภัยแบรนด์ต่อเมื่อได้รับความเป็นธรรมตามขั้นตอน โดยการให้ความเป็นธรรมดังกล่าวจะต้องเป็นความเป็นธรรมที่มาจากการมีปฏิสัมพันธ์ ไม่ใช่เพียงการจัดสรรสิ่งของสมนาคุณผู้บริโภคเพื่อเป็นการขอโทษเท่านั้น”
เงื่อนไขและข้อเสนอที่ทำให้ผู้บริโภคให้อภัยแบรนด์สินค้าและบริการ
เงื่อนไขหรือข้อเสนอที่จะทำให้ผู้บริโภคไทยยกโทษให้แบรนด์ จากผลวิจัยพบว่า ผู้บริโภคยกโทษให้แบรนด์หากได้รับข้อเสนอในด้านต่างๆ อยู่ในระดับมาก ยกเว้นในเรื่องของการขอโทษด้วยความจริงใจของแบรนด์ ที่ทำให้ผู้บริโภคให้อภัยแบรนด์อยู่ระดับน้อย ซึ่งอาจเพราะผู้บริโภคคิดว่า การขอโทษเป็นสิ่งพื้นฐานที่แบรนด์ทุกแบรนด์ควรแสดงออก และการขอโทษไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการให้อภัยของผู้บริโภค หากแต่เป็นความยุติธรรมที่ผู้บริโภคควรได้รับ
ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริโภคให้อภัยแบรนด์สินค้าและบริการ หากแบรนด์ช่วยแนะนำทางออกหลายๆ ทาง รองลงมา จะให้อภัยต่อเมื่อแบรนด์ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และจะให้อภัยน้อยที่สุดเมื่อแบรนด์ให้ของสมมนาคุณที่คุ้มค่า เช่น บริการเสริม ส่วนลด ของกำนัล มอบสิทธิพิเศษ ของแถม โปรโมชั่น อย่างไรก็ดี ข้อน่าสังเกตพบว่า ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าและบริการของแบรนด์ต่อแม้เกิดอารมณ์เชิงลบ หากสินค้ามีให้เลือกน้อยในท้องตลอด แบรนด์มีชื่อเสียง แบรนด์นั้นทำตามสัญญาที่ให้ไว้หลังเรียกร้อง และมีความยุ่งยากในการเปลี่ยนแบรนด์