เมื่อมองเข้ามาที่ตัวเลขดังกล่าว จะพบว่า ค้าปลีกเซ็กเม้นต์ห้างสรรพสินค้ากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการเข้ามาทำตลาดของบรรดาอีคอมเมิร์ชทั้งหลายที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์การช้อปของคนไทย ทำให้ผู้เล่นในตลาดนี้ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่
อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นความโชคดีที่ตลาดค้าปลีกในบ้านเราโดนผลกระทบจากการเข้ามาดิสรัปท์ของบรรดายักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของโลกช้ากว่าประเทศอื่นๆ จึงมีเวลาในการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อเทรนด์ของตลาดค้าปลีกทั่วโลกรวมถึงบ้านเรากำลังพุ่งไปที่ออมนิแชนแนลที่เป็นการ Seamless ช่องทางขายระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์ให้มีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้สามารถรับมือกับผลกระทบได้
เราจึงได้เห็นการปรับตัวของ 2 ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดค้าปลีกที่เป็นห้างสรรพสินค้าอย่างกลุ่มเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ มีการปรับกลยุทธ์การทำตลาดที่มุ่งเน้นไปที่การตอบโจทย์การช้อปแบบออมนิแชนแนล โดยกลุ่มแฟชั่นในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสัน มากกว่า 50% จะเป็นการขายผ่านช่องทางขายที่เป็นออมนิแชนแนล คาดว่าภายในปี 2564 นี้ จะครอบคลุมการเป็นออมนิแชนแนลในทุกสาขาที่เปิดให้บริการ
เช่นเดียวกับกลุ่มเดอะมอลล์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการปรับรูปแบบการขายที่เน้นมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบ Seamless เช่นเดียวกัน
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การปรับรูปแบบการทำตลาดให้สอดรับไลฟ์สไตล์ของคนไทยรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มองว่า การมาร้านค้าปลีกที่เป็น Physical อย่างห้างสรรพสินค้าจะเป็นแค่เพียงการมาเพื่อซื้อสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการใช้ชีวิตควบคู่กันไปด้วย
ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือการปรับกลยุทธ์ของห้างเซ็นทรัล ที่อาศัยจังหวะของการปรับเปลี่ยนจากห้าง Zen ซึ่งอยู่คู่กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์มา 30 ปี มาเป็น “CENTRAL@centralwOrld” เมื่อปลายปี 2562 โดยจะใช้ห้างสรรพสินค้า “CENTRAL @centralwOrld” เป็นต้นแบบของการปรับโฉมห้างเซ็นทรัลอีก 20 สาขา จากสาขาที่มีอยู่ทั้งหมด 23 สาขา ถือเป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่ในรอบหลายปีของห้างเซ็นทรัลเลยก็ว่าได้
แรงขับเคลื่อนสำคัญของการลุกขึ้นมาปรับกลยุทธ์และรูปแบบการนำเสนอของห้างเซ็นทรัลใหม่แบบยกชุดนั้นมาจาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักช้อปที่ไม่ได้ต้องการมาห้างเพื่อช้อปปิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการที่จะมาแฮงก์เอาท์ด้วย การดึงให้ลูกค้าเข้ามาใช้เวลาอยู่ในห้างนานๆ เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมีการปรับรูปแบบของห้างให้มีการผสมผสานทั้งเรื่องของช้อปปิ้ง และที่แฮงก์เอาท์ โดยมีเรื่องของไลฟ์สไตล์เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน