นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ Facebook กำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถทำนายความเป็นไปได้ของอาการผู้ป่วย COVID-19 ว่าจะแย่ลง หรือมีความต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นหรือไม่จากผลการเอกซเรย์ทรวงอก ซึ่ง Facebook กล่าวว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์ลดอัตราการส่งผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงกลับบ้านเร็วเกินไป ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้โรงพยาบาลมีเวลาวางแผนการสำรองปริมาณออกซิเจน
ทั้งนี้ Facebook ทำงานร่วมกับนักวิชาการหน่วยวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ และแผนกรังสีวิทยาจาก NYU Langone Health ศูนย์การแพทย์ทางวิชาการที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ในการพัฒนาโมเดล Machine-learning ทั้งหมด 3 แบบซึ่งมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยแบบแรกทำนายการเสื่อมสภาพของผู้ป่วยโดยอาศัยการเอกซเรย์ทรวงอกเพียงครั้งเดียว แบบที่สองทำเช่นเดียวกันกับแบบแรกแต่จะศึกษาลำดับของอาการจากภาพเอกซเรย์ ส่วนแบบสุดท้ายจะทำนายความต้องการปริมาณออกซิเจนของผู้ป่วย
ทั้งนี้ AI มีการเรียนรู้เพื่อวิเคราะห์ผลจากการถูกป้อนข้อมูล 2 ชุด ได้แก่ ภาพเอกซเรย์ทรวงอกของคนปกติ 4,914 ราย และภาพเอกซเรย์ทรวงอกผู้ป่วยที่ติด COVID-19 26,838 ราย ผ่านการใช้เทคนิค AI ที่เรียกว่า “โมเมนตัมคอนทราสต์” ดึงข้อมูลจากภาพเอกซเรย์ทรวงอกมาสร้างโครงข่ายเส้นประสาทจำลองในระบบคอมพิวเตอร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสมองของมนุษย์ซึ่งสามารถระบุรูปแบบ และรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลจำนวนมหาศาลได้
ในผลการวิจัยพบว่าอัลกอริทึมของ AI จากภาพเอกซเรย์ทรวงอกสามารถทำนายอาการล่วงหน้าของผู้ป่วยได้ถึง 4 วัน หรือ 96 ชั่วโมง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษารวมถึงวางอัตรากำลังคนเพื่อดูแลผู้ป่วยที่คาดว่าจะมีอาการหนัก
ศาสตราจารย์วิลเลียม มัวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาจาก NYU Langone Health กล่าวในแถลงการณ์ว่า
เนื่องจาก COVID-19 ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นการใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาทำนายความต้องการการดูแลของผู้ป่วย เช่น การเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโรงพยาบาล
นักวิจัยของ Facebook และ NYU ยืนยันว่า AI ทำนายอาการ COVID-19 ยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นโซลูชั่นการวิจัยโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้โรงพยาบาลสามารถวางแผนทรัพยากรได้ทันท่วงที แม้ว่าโรงพยาบาลจะมีชุดข้อมูลเฉพาะของตนเอง แต่ก็มักไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี หรือหาวิธีในการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์
Cr: CNBC