เช่นเดียวกับการทำตลาดเพื่อสนับสนุนการขายนั้น ซีพีเอฟมีการพุ่งตรงมาที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษา และคนเริ่มต้นทำงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในความถี่ที่มากกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ จึงกลายเป็นแรงส่งชั้นดีที่ทำให้ไส้กรอกแบรนด์ซีพีก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของตลาดที่มีส่วนแบ่งตลาดในแง่ของมูลค่าอยู่ที่ 19%
ปัจจุบัน ตลาดไส้กรอก 3 หมื่นล้านบาท จะแบ่งออกเป็นตลาดพรีเมียมที่มีราคาขายกิโลกรัมละ 400 บาทขึ้นไป มีสัดส่วนประมาณ 6% ของตลาด ไส้กรอกเกรดเอ ราคาขาย 200 – 400 บาทต่อกิโลกรัม สัดส่วน 45% และไส้กรอกระดับกลางลงมาล่างราคาขาย 50 – 200 บาทต่อกิโลกรัม มีสัดส่วน 49%
ส่วน ซีพี มีไส้กรอกอยู่ 4 แบรนด์หลักคือ แบรนด์ ซีพี บีเคพี ซูเปอร์เชฟ และมิสเตอร์ซอสเซจ โดยทั้ง 4 แบรนด์ จะจับตลาดที่แตกต่างกันไป มีบุทเชอร์กับ มิสเตอร์ซอสเซจ อยู่ในตลาดพรีเมียม แบรนด์ซีพี จะจับตลาดเกรดเอ และบีเคพี เป็นตลาดระดับกลาง โดยส่วนแบ่งตลาดรวมทั้ง 4 แบรนด์อยู่ที่ประมาณ 31%
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับไส้กรอกซีพีนั้น นอกจากเรื่องของการตลาดที่ทำออกมาเข้มข้นแบบต่อเนื่องไม่หยุดแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างก็คือ การมีช่องทางขายที่แข็งแกร่งอย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เข้ามาเป็นตัวสนับสนุน ซึ่งถ้าจะบอกว่า กลุ่มซีพีเองมีการวางกลยุทธ์การสร้างตลาดไส้กรอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะสร้างรูปแบบการบริโภคสินค้าประเภทนี้ให้เป็น “สแน็ค” ที่สามารถกินได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดแค่การกินตามมื้ออาหาร ช่องทางขายผ่านร้านคอนวีเนียนสโตร์อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น จึงกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของยุทธการในการสร้างตลาดไส้กรอกตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ที่สำคัญ ยังเป็นตัวสะท้อนภาพให้เห็นถึงแนวทางของกลุ่มซีพี ซึ่งมองถึงการทำตลาดแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือเรื่องของการผลิต กลางน้ำ คือการจัดจำหน่าย และปลายน้ำ ที่เป็นร้านค้าปลีก ซึ่งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ถือเป็นเครือข่ายการขายที่ทรงพลังที่พร้อมจะเข้ามาขับเคลื่อนการเติบโตให้กับไส้กรอกในเครือของซีพีเอฟได้อย่างเต็มรูปแบบ...