ผู้ประกอบการโลคอล โมเดิร์นเทรดนี้ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในบ้านเราจะมาจากการเป็นยี่ปั๊วในอดีต ก่อนที่จะมีการปรับตัวเองให้กลายมาเป็น “ยี่ปั๊วพันธุ์ใหม่” ที่มีการผสมผสานรูปแบบการทำตลาด คือนอกจากขายส่งในรูปแบบของ Cash & Carry ที่ลูกค้าที่เป็นร้านค้าย่อยเข้ามาซื้อ จ่ายเงินสด และยกกลับบ้านแล้ว ยังมีการขายปลีกหน้าร้านในรูปแบบของซูเปอร์ สโตร์ที่เน้นขายสินค้าราคาถูก โดยอาศัยข้อได้เปรียบในเรื่องของวอลุ่มการสั่งซื้อที่มีจำนวนมากจากการขายส่งพ่วงขายปลีก พร้อมกับเรื่องของโลเกชั่นของร้านที่อยู่ในทำเลใจกลางเมืองมาเป็นตัวช่วย อย่างไรก็ตาม การเติบโตหลังจากนี้ไปจะต้องมาจากสาขาใหม่ๆ มากกว่าแค่การมีสาขาเพียงแห่งเดียว
การเติบโตจากการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในสาขาใหม่ๆ กำลังเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการค้าปลีกในกลุ่มนี้ทำกัน เป็นการสอดรับกับแนวทางการทำธุรกิจที่ถูกเปลี่ยนผ่านมาสู่ผู้บริหารรุ่นลูกที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการนำรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ๆ เข้ามาทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้น เป็นการวิเคราะห์เทรนด์โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในแวดวง FMCG อย่างยูนิลีเวอร์ที่มอง เห็นว่า การเติบโตต่อจากนี้ไปจะเป็นการเติบโตจากการขยายสาขาใหม่ๆ มากกว่าการเติบโตจากสาขาเดิม การเติบโตที่มาจากสาขาใหม่นี้ จะเป็นสาขาที่มีขนาดพื้นที่ขายประมาณ 400 ตารางเมตร ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีเพื่อเข้ามาช่วยขับ เคลื่อนการเติบโตของยอดขาย
ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ การลงทุนขยายสาขามาที่จังหวัดกระบี่ และพังงาของซุปเปอร์ชีป ภูเก็ต ที่เป็นรูปแบบร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ขายสินค้าราคาถูกทั้งขายปลีก และขายส่งในสไตล์ Cash & Carry ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายนี้ถือเป็นผู้เล่นท้องถิ่นรายใหญ่อีกรายที่มีการเติบโตของยอดขายค่อนข้างดี
ข้อได้เปรียบของการขยายสาขาของร้านค้าปลีกขนาดพื้นที่ขายประมาณ 400 ตารางเมตรนี้ อยู่ตรงที่ความคล่องตัวในการขยายสาขาเข้าไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อผลักดันตัวเองให้เข้าไปเป็นร้านค้าปลีกของชุมชน แน่นอนว่ากลยุทธ์เรื่องของการขยายสินค้าราคาถูกจะเข้ามาเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการทำตลาด โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารวอลุ่มการขาย และการสั่งซื้อที่หากมีวอลุ่มมาก สิ่งที่ตามมาก็คือ การได้ต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อให้สามารถวางราคาขายสินค้าให้ถูกลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการทำตลาดที่มีสาขาหลายสาขาของผู้ประกอบการโลคอล โมเดิร์นเทรด ก็คือ การบริหารจัดการในเรื่องของสต๊อก ที่จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นตามจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น เรื่องดังกล่าวนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการท้องถิ่น เพราะถ้าทำออกมาไม่ดี จะทำให้มีโอกาสล้มเหลวได้สูง
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก เคยออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ผู้ประกอบการโลคอล โมเดิร์นเทรด ของบ้านเราในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีรุ่นลูกเข้ามาเป็นผู้บริหาร ซึ่งคนรุ่นใหม่จะมาพร้อมกับเทคโนโลยี
“มุมมองที่ควรจะเปลี่ยนไปก็คือ ต้องมองต่างจากอดีตที่จะเน้นการทำต้นทุนสินค้าให้ต่ำ เพื่อให้สามารถขายถูกได้ โดยยังมีกำไร แม้ไม่มากนักก็ตาม มาสู่การมองถึงเรื่องของการขายสินค้าเพื่อทำกำไรมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของบิ๊กดาต้าที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ถึงความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ บิ๊กดาต้าจึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำตลาดค้าปลีกของผู้ประกอบการโลคอล โมเดิร์นเทรดในช่วงเวลาจากนี้ไป”