ในช่วงที่กระแส Cashless Society เริ่มเป็นที่นิยมเมื่อหลายปีก่อน นอกเหนือจากกลุ่มการเงิน และผู้ให้ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เปิดตัวบริการ Mobile Payment แล้ว ก็ยังมีบริษัทไอทีหลายค่ายด้วยกันที่กระโดดลงมาเล่นในสนามนี้
หนึ่งในนั้นก็คือ ค่ายผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกอย่าง Samsung
Samsung มีการเปิดให้บริการ Samsung Pay โซลูชั่นการชำระเงินรูปแบบใหม่ผ่านสมาร์ทโฟนด้วยบัตรเครดิต (Cardless) ไปเมื่อกลางปี 2015 ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา จีน สเปน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เปอร์โตริโก และบราซิล โดยได้รับผลการตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม เพราะหลังจากเปิดให้ใช้บริการครบ 1 ปี ก็มีการทำธุรกรรมผ่านซัมซุง เพย์ สูงกว่า 100 ล้านครั้ง มีธนาคารและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกว่า 440 แห่ง และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนในประเทศไทยมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนปี 2016
ครั้งนั้นทางผู้บริหารของ Samsung เคลมว่าโซลูชั่นใหม่นี้ “ใช้ง่าย – สะดวก – ปลอดภัย” เพราะผู้ใช้ งานไม่จำเป็นต้องพกบัตรเครดิตอีกต่อไป เพราะแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็เหมือนมีกระเป๋าสตางค์และบัตรเครดิตติดตัว
ใช้ง่าย – หลังจากลงทะเบียนใช้งาน Samsung Pay แล้ว เมื่อต้องการชำระเงินก็แค่หยิบสมาร์ทโฟน ออกมา เลือกบัตรที่ต้องการ สแกนลายนิ้วมือยืนยันตัวตน และแตะสมาร์ทโฟนกับเครื่องรูดบัตร เพียงเท่านี้ก็สามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างง่ายดาย
สะดวก – เพราะ Samsung Pay รองรับเทคโนโลยี MST (Magnetic Secure Transmission) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับเครื่องรูดบัตรเครดิตที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย และยังรองรับเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ของระบบการจ่ายเงินอีกด้วย ไม่ว่าที่ใดที่รับบัตรเครดิตก็สามารถรองรับซัมซุง เพย์ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใส่บัตรเครดิตได้มากสุดถึง 10 ใบ รวมทุกสิทธิประโยชน์ในเครื่องเดียว โดยไม่จำเป็นต้องพกกระเป๋าสตางค์หรือบัตรเครดิตให้ยุ่งยากอีกต่อไป
ปลอดภัย – อุ่นใจด้วยระบบโทเคน (Tokenization) ที่สร้างเลขบัตรดิจิทัล แทนการใช้เลขบัตรเครดิตจริงในการชำระเงิน ปลอดภัยขึ้นอีกขั้นด้วยระบบยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือทุกครั้งที่ชำระเงิน และ ระบบรักษาความปลอดภัยชั้นหนึ่ง ซัมซุง น็อกซ์ (Samsung KNOX) ตู้เซฟที่ช่วยปกป้องข้อมูล ตั้งแต่ระดับฮาร์ดแวร์จนถึงซอฟต์แวร์ ซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใดทำได้
ในช่วงเปิดตัวพบว่ามีบัตรเครดิตของธนาคารใหญ่หลายแห่งที่เข้าร่วมกับบริการใหม่นี้ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ, ซิตี้แบงก์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรี, เคทีซี, ธนาคตารไทยพาณิชย์ ฯลฯ
แต่พบว่า Feedback จากการใช้งานจริงของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ ร้านค้าส่วนใหญ่พนักงานยังไม่คุ้นเคยกับการรับชำระเงินในระบบนี้ จนทำให้ขั้นตอนการชำระเงินกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก แม้ว่าทาง Samsung จะมีการให้โปรโมชั่นด้านราคาที่ดีไม่แพ้คู่แข่งรายอื่นๆ แม้แต่น้อย