ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าความได้เปรียบของธุรกิจนี้อยู่ที่ “สเกล” ทำให้วอลล์สามารถผลิตและจำหน่ายไอศกรีมในราคาเริ่มต้นเพียงแท่งละไม่ถึง 10 บาทได้
เพราะด้วยการที่วอลล์เป็นโกลบอลแบรนด์ จึงมีสเกลถึง 2 ระดับด้วยกัน คือสเกลในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคเพื่อที่จะสร้างวอลุ่มให้มีขนาดใหญ่พอที่จะควบคุมต้นทุนการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยทุกครั้งที่วอลล์ผลิตสินค้าใหม่ไม่ว่าจะฟอร์แมตโคน แท่ง หรือถ้วยก็ตาม จะต้องลงทุนเครื่องจักรในโรงงานผลิต ตลอดจนวางแผนเรื่องวัตถุดิบสั่งซื้อสินค้าให้ถูกต้องตามฤดูกาล และการจัดส่งในระบบ Cold Chain ซึ่งทั้งหมดจะมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ก็ต่อเมื่อมีสเกล ซึ่งเซตกลุ่ม เป้าหมายไว้ที่คนไทยกว่า 60 ล้านคน นี่คือสเกลในระดับประเทศทำให้คุ้มต่อการลงทุน
แต่สำหรับบางโปรเจ็กต์ ลำพังวอลุ่มเฉพาะในเมืองไทยยังเอาไม่อยู่ ทำให้ผลิตออกมาแล้วมีราคาแพงขายยาก ยูนิลีเวอร์ เจ้าของแบรนด์เองไม่อยากผลักภาระไปที่คอนซูเมอร์ เพราะวิชั่นเป็นแบรนด์แมส แต่ละครั้งวอลล์จึงมีการตั้งราคาที่คอนซูเมอร์สามารถ Affordable ได้
ขณะเดียวกันก็ต้องเทียบเคียงราคาขนมอย่างอื่น เพื่อไม่ให้ไอศกรีมที่จะออกวางตลาดมีราคาสูงกว่า โดยจะหาวิธีนำสเกลของประเทศไทยมารวมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ หรือเรียกว่าสเกลระดับภูมิภาคมา ล็อกให้เป็นวอลุ่มเดียวกัน เพื่อลงทุนเครื่องจักรพร้อมกัน และทำให้ระบบขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้เมืองไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่าย
นี่คือข้อจำกัดที่แบรนด์เล็กไม่สามารถลงทุนได้ จึงเป็นโอกาสที่แบรนด์ของผู้นำตลาดเพราะค่าเครื่องจักรแต่ละชิ้นแต่ละตัวแพงมาก หรือลงได้แต่ต้องสามารถออกนวัตกรรมสินค้าใหม่ได้ง่าย และเร็วกว่าหลายช่วงตัว
ความได้เปรียบในเรื่องสเกลนี้ยังนำมาซึ่งข้อได้เปรียบในอีกหลายทอดต่อมาแบบ Domino Effect