อย่างไรก็ตาม ในแง่อะแวร์เนส หรือการรับรู้ถึงตัวพรีเมียมเอ้าท์เล็ตมอลล์ของคนในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกยังมีออกมาแค่ 40 – 45% แต่คนที่รับรู้นี้มีเข้ามาเดินในมอลล์ถึง 25% และมีตัวเลขการใช้จ่ายถึง 25% ของการใช้จ่ายทั้งหมด โดยไมเคิล ถัง บอกว่า สิ่งที่มีการปรับกลยุทธ์อีกอย่าง นอกเหนือจากเรื่องของการสื่อสารการตลาดก็คือ การทำโปรโมชั่นที่สยามพรีเมี่ยมเอ้าท์เล็ตมองว่า การทำโปรโมชั่นนั้น ต้องมาจากแบรนด์หรือร้านค้าเอง เพราะจะสามารถดึงคนให้ใช้เวลาอยู่ในร้านได้นานมากขึ้น ซึ่งนั่นจะหมายถึงการใช้จ่ายก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยเขาบอกว่า เจ้าของศูนย์จะทำในเรื่องของการโปรโมชั่นแบบออนท็อปเข้าไปให้เพื่อให้เกิดการซื้อต่อไปยังสินค้าตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลดีกว่าการขับเคลื่อนโปรโมชั่นในภาพรวมโดยเจ้าของศูนย์
“สิ่งที่เราต้องทำในตอนนี้ก็คือ พยายามสร้างความเข้าใจว่าพรีเมี่ยมเอ้าท์เล็ตมอลล์ ขายสินค้าที่มีทั้งลักชัวรี่แบรนด์ แฟชั่นแบรนด์ที่เป็นอินเตอร์ และของโลคัล โดยขายในราคาถูกลด 30 - 70% ซึ่งลูกค้าที่มีประสบการณ์จากการช้อปในต่างประเทศมาแล้วจะเข้าใจ แต่ก็ยังมีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของมัน โดยค้าปลีกในรูปแบบพรีเมียมเอ้าท์เล็ตมอลล์นั้น ถือเป็นเดสติเนชั่นที่คนสนใจในการช้อปปิ้งจริงๆ จะมุ่งมา เพราะด้วยเหตุที่ว่ามอลล์ในรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ไกลออกไปจากย่านใจกลางเมือง ซึ่งคนที่มาช้อปจะให้ความสนใจกับเรื่องของ Price Value ที่แบรนด์ดังๆ นำมาใช้เป็นแนวทางในการทำตลาด”
ไมเคิล ถัง เปรียบเทียบให้เห็นถึงการทำพรีเมียมเอ้าท์เล็ตมอลล์ในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งกลุ่มไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ เข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินเพื่อการค้าปลีกของท้องถิ่นเหมือนกันว่า ในประเทศมาเลเซียที่มีอยู่ 2 สาขา และเปิดแบบเต็มเฟสก่อนบ้านเรามานานแล้วมีคนหมุนเวียนใกล้เคียงกับไทยคือ 8,000 – 10,000 คนต่อวันในช่วงวันหยุด แต่ของบ้านเราจะมีรีเทิร์นของยอดขายกลับมาดีกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการที่แต่ละแบรนด์มีแฟนคลับของตัวเอง และเมื่อรู้ว่าเข้ามาเปิดจะเข้ามาช้อปเป็นประจำ โดยมิกซ์ของร้านค้าในศูนย์ที่ลงตัวนั้น จะต้องมีแบรนด์ที่เป็นลักชัวรี่ประมาณ 5 – 8% ของร้านค้าทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะประกอบไปด้วยแฟชั่นที่เป็นอินเตอร์แบรนด์ 50% แฟชั่นโลคัลแบรนด์ 32 – 35% และอีก 10% จะเป็นร้านอาหาร ซึ่งเป็นมิกซ์ของร้านที่พรีเมียมเอ้าท์เล็ตมอลล์ทั่วโลกนิยมทำกัน
ในเฟสแรกที่เปิด สยามพรีเมียมเอ้าท์เล็ต จะมีจำนวนร้านค้าประมาณ 137 ร้าน คิดเป็น 65% ภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มร้านค้าอีก 32 ร้านค้า ไม่ว่าจะเป็น ลักชัวรี่แบรนด์อย่าง Salvatore Ferragamo และ Breitling อินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ ได้แก่ Marc Jacobs, Karl Lagerfeld, Fred Perry, Jubilee Diamond, Mango, Cotton On, Converse, Teva, New Era, The Clozet, Grand Motorsport, Body Glove, WRKROOM:, Siam Takashimaya, Santa Barbara, Sabina, Morgan, Daks และ BE Me by Wacoal ไลฟ์สไตล์แบรนด์ ได้แก่ Miniso, Lamy, Grand Massage & Spa, Mr.Big, Camera Baby, Santas Home รวมถึงกลุ่มร้านอาหาร ได้แก่ Bonchon, SUSHiPLUS, KFC, 7-Eleven และ Breadtalk ทำให้มีจำนวนร้านค้าเพิ่มเป็น 86% ของทั้งหมด และภายในปีนี้จะเปิดแบบเต็มเฟส 100%