Iconic Business Model หมายถึง รูปแบบการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นจากหลักการของการนำคุณลักษณะอันโดดเด่นของตัวบุคคลมาสร้างเป็นธุรกิจ และในบางครั้งอาจสะท้อนภาพของชุมชน หรือกลุ่มคนที่เป็นแฟนคลับของ Iconic
วันนี้เราจึงมองเห็นภาพของเหล่า “เซเลบริตี้” (Celebrity) ที่เริ่มมีบทบาททางการตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มดารา นักร้อง นักแสดง จำนวนมากที่ลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ ทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ทั้งกลุ่มของใช้ส่วนบุคคลอย่างน้ำหอม เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลุ่มอาหารและขนมขบเคี้ยว ตั้งแต่ร้านอาหาร ป๊อปคอร์น ไปจนถึงน้ำปลาร้า และธุรกิจโซเชียล เอเยนซี เป็นต้น
ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของผลงานพ๊อคเกตบุ๊ค “อัจฉริยะทางการตลาด” ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า
Iconic Business Model เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับ Personal Branding แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน หรือหากมี Personal Branding ที่แข็งแกร่งอยู่แล้วก็สามารถต่อยอดไปสู่ Iconic Business Model ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่มี Personal Branding ที่ดีจะสามารถสร้างเป็น Business Model ได้ทุกคน
เมสเสจ และเป้าหมายต้องชัดเจน
สำหรับการทำ Personal Branding ที่มีความตั้งใจว่า สุดท้ายปลายทางจะต้องสร้างให้เกิดเป็น Iconic Business Model ก็ยิ่งต้องมีการวางแผนที่ดี และมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น
ดร.เอกก์ กล่าวว่า คุณสมบัติของบุคคลที่สามารถต่อยอดเป็น Iconic Business Model ได้ดี แน่นอนว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มี “กลุ่มแฟนคลับ” แต่แฟนคลับยังไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าแฟนคลับก็คือ “กระบวนการสร้างให้เกิดแฟนคลับ” ที่ต้องอาศัยปัจจัยเอื้อหลายประการ คือ
-
ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
-
ต้องมี Message ที่ต้องการสื่อสารอย่างชัดเจน
-
ต้องมีช่องทางการสื่อสารที่ถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่าง อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ กับการต่อยอด Business Model ด้วยการทำตลาดผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า จากปัจจัยเอื้อที่ชัดเจนในความเป็นผู้สูงวัยที่มี Well-being คือ สุขภาพดี และอารมณ์ดี เป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต้องการ และอยากเป็นแบบอาจารย์วิโรจน์ โดยมี Message ที่ชัดเจน คือ Well-being ที่มักสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายว่า ยังขับรถเองได้ ยังเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความสุข ขึ้นลงบันไดได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นเรื่องที่สามารถโยงเข้าไปที่ตัวสินค้าได้ทั้งหมด
“เมื่อมีปัจจัยที่ชัดเจนทั้ง 3 ข้อ ก็จะมีกลุ่มแฟนคลับเกิดขึ้นตามมา ซึ่งคนที่สามารถสร้าง Iconic Business Model ได้ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นศิลปินในกลุ่มนักร้องนักแสดง แต่ต้องมีปัจจัยที่เอื้อให้กลุ่มแฟนคลับเกิดขึ้นมา ทำให้สามารถต่อยอดเป็น Business Model ได้
การทำ Iconic Business Model จึงไม่ควรเริ่มที่แฟนคลับ จะทำให้ต้นทุนแพงขึ้นโดยอัตโนมัติเพราะขายที่แฟนคลับ และจะกลายเป็น Presenter มากกว่าการเป็น Iconic Business Model เราต้องแยกตรงนี้ให้ได้ก่อน คือถ้าเขามีแฟนคลับอยู่แล้ว และดึงเขาเข้ามาผูกกับแบรนด์เลยแบบนี้เป็นพรีเซ็นเตอร์ มีต้นทุนที่แพง และมีความฉาบฉวย แต่ถ้าอยากให้เขาเป็น Iconic Business Model ก็ต้องสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีความชัดเจน และอยู่ได้นานกว่า”