ปฎิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดที่รุนแรงและรวดเร็วของไวรัส COVID-19 ทั่วโลกนั้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องหยุดชะงักเป็นเวลานาน เพราะวิธีลดการแพร่ระบาดที่ได้ผลนั้น คือการหยุดเดินทาง ซึ่งวิธีการนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง อาทิ สายการบิน ท่องเที่ยว ขนส่ง ที่แทบจะหยุดกิจการ 100%
กระนั้นก็ดีในภาคธุรกิจปัจจุบันก็เริ่มมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกันไปพอสมควร แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าองค์กรนั้นๆ จะอยู่รอด
ในมุมมองของ ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่าหลังสถานการณ์ COVID-19 ทุกองค์กรธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ
โดยหัวใจสำคัญของการปรับตัวครั้งนี้ ดร.วิพุธ ได้ขมวดปมไว้เป็น 4 หัวข้อหลัก คือ
1. Rethink Business Model
การทบทวนและปรับโครงสร้างโมเดลธุรกิจในที่นี้ ดร.วิพุธ ให้ความสำคัญไปที่โมเดลการหารายได้มากที่สุด ว่ามีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
“สมัยก่อนเราก็อาจจะมีแค่โมเดลการขายสินค้าแบบขายขาด วิธีการในการที่จะดู Business Model ก็คือมาดูโมเดลรายได้ แล้วพยายามหารูปแบบและวิธีการใหม่ๆ เช่น จากเดิมขายขาดอาจจะเป็นการแบ่งปันรายได้ หรือเปลี่ยนเป็นค่าเช่า หรือวิธีการเก็บสมัยก่อนเราอาจจะเก็บเงินที่เป็นรายได้จากลูกค้าที่ใช้บริการ แต่ Grab ใช้วิธีการเก็บจากร้านค้าแทน แบบนี้แสดงว่า Business Model เปลี่ยน
คำถามคือถ้าเราเป็นบริษัท เราจะ Rethink Business Model กันอย่างไร จริงๆ ก็มี 2 แนว แนวแรกเรียกว่า Exploratory คือเป็นการค้นพบ หรือแสวงหาแนวทางใหม่ๆ กับแนวทางที่ 2 คือการทำ Experiment มี 2 มุมนะครับ Experiment ก็คือการทดลอง อย่างเช่นการขายตั๋วเครื่องบินบุฟเฟ่ต์ของสายการบิน AirAsia นี้ถือเป็นโมเดล Experiment ที่ดี”
ดร.วิพุธ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ทั้ง Exploratory และ Experiment สุดท้ายจะนำไปสู่การ Discovery คือการค้นพบ Business Model ใหม่ หรือบางทีก็อาจจะไม่ได้เป็นการค้นพบใหม่ เราเรียกว่า Rediscovery คือไปค้นพบสิ่งเก่าซึ่งอาจจะเป็น Business Model เก่า แต่สมัยก่อนเป็นรายได้ที่น้อยจนเราละเลยไป แต่สามารถเอามาปัดฝุ่น ใช้งานใหม่ได้
2. Reengineering Process
หลัง COVID-19 การทำงานจะต้องมีความยืดหยุ่น (Resilience) และปรับเปลี่ยนได้ (Agile) ให้สอดคล้องไปตามสถานการณ์ และสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป โดย Value Chain ของบริษัทอาจปรับเปลี่ยนให้ ยาวขึ้นหรือสั้นลง โดยขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เช่น เกิดสภาวะที่วัตถุดิบจากประเทศจีนไม่สามารถนำเข้าได้ ทำให้ต้องหาวัตถุดิบ ทดแทนจากในประเทศ หรือทำการผลิตวัตถุดิบเอง
“Reengineer เรื่องของ Value Chain คือกิจกรรมที่บริษัทเคยทำในอดีต โมเดลของ Value Chain จะเน้นไปที่ Efficiency คือหาคนที่สามารถมี Efficiency มากที่สุดมาทำแทนเรา เช่น เราทำนิตยสารแต่ไม่เป็นเจ้าของโรงพิมพ์จะทำโฟกัสในเฉพาะสิ่งที่เป็น Core Competency อะไรที่เป็น Non-Core แล้วมีตัว Efficient Provider ทำแทนเรา เราจะไม่ทำ Logistic ไม่ส่งนิตยสารเอง ไม่ไปเปิดร้านหนังสือเอง
สิ่งที่น่าสนใจคือการ Reengineer จะต้องอยู่บน Business Model ที่กลับมาต่อยอด Value Chain ให้ยาวขึ้นก็ได้ คือข้อดีของการที่เราจะมี Option ของการ Reengineer ตัวของ Process คือเราต้องมี Value Chain ที่ยาว Keyword คือ Value Chain ต้องยาว ในอดีตทุกคนจะทำ Value Chain ให้สั้น และจะโฟกัสเฉพาะใน Core Competency แต่ในยุคหลัง COVID-19 เราอาจจะต้องมีการมองถึงการต่อ Value Chain ให้ยาวขึ้น ตัวอย่าง เช่น สายการบิน AirAsia ที่ต่อยอดธุรกิจมาทำประกันเดินทาง หรืออาจจะทำทัวร์”
ดร.วิพุธ กล่าวว่า โมเดลนี้กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศอย่างมาก พร้อมกับยกตัวอย่างการเกิดเทรนด์ที่เรียกว่า Omni Channel ในธุรกิจค้าปลีกซึ่งเป็นตัวอย่างของการที่ Integrate Value Chain ให้ยาวขึ้น เช่น Amazon ที่ไปซื้อกิจการ Whole Foods ซึ่งเป็นการต่อยอดจาก Online มาสู่ Offline
“ที่น่าสนใจคือการซื้อ Whole Foods เป็นการต่อ Value Chain ของ Amazon ให้ยาวขึ้น ทำให้ทางฝั่ง Walmart ซึ่งเป็น Store ต้องมาทำ Online จนตอนนี้ก็กลายเป็น Trend Omni Channel ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นการ Reengineer เพื่อจะ Integrate Value Chain ให้มัน Seamless”