• “เดนมาร์ก” กรณีศึกษาการพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืน
นายฟิน มอร์เทนเซ่น (Mr.Finn Mortensen) Executive Director State of Green, Denmark กล่าวว่า “ประเทศเดนมาร์กได้เริ่มวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970โดยได้มีการวางแผนการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางทรัพยากร ตลอดจนแผนการสร้างเมือง Smart City ซึ่งทำให้เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ในอนาคตอันใกล้ ประมาณ 65%ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแออัด การจัดการทรัพยากร มลพิษจากการคมนาคม ตลอดจนปัญหาสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เราเริ่มเห็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจนมากขึ้น
การพัฒนาเมืองให้เป็นSmart City ที่มีความยั่งยืนต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือความสามารถในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนรุนแรง ตัวอย่างเช่น เมืองโคเปนเฮเกนและเมืองท่องเที่ยวรอสกิลด์ ที่มีนวัตกรรมในการจัดการและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมและพายุฝน เช่น การสร้างถนนที่สามารถช่วยดูดซับน้ำการสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น”
• อนาคตของการลงทุนกับองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร. ภากร ปีตธวัชชัยกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า “ความยั่งยืนเป็นเมกะเทรนด์ที่ทุกคนจับตามอง นักลงทุนหรือสถาบันทางการเงินให้ความสนใจกับบริษัทที่ยึดหลักความยั่งยืนและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปจะมองเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนจากสถิติต่าง ๆ ของโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีสัดส่วนของคนรู้หนังสือมากขึ้น คนยากจนน้อยลง สังคมมีความเจริญมากขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมกลับเสื่อมโทรมลง โดยสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของความเจริญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมีการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง รวมทั้งปัญหาทรัพยากรน้ำ จึงทำให้บริษัทที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) มากกว่าผู้ถือหุ้น (Shareholders) เป็นครั้งแรก”
• ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องทำ
การอภิปรายในหัวข้อ CEO Roundtable : Business Adapting towards Resilience โดย นายอัศวิน
เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) นายแบรด เดนิก (Mr.Brad Denig) Co-ordinatingManaging Director – Innovation & Sustainability, AWR Lloyd Limited นายยูซา ซูเซีย (Mr. JusaSusia) Head of Region, Business Finland และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สรุปได้ว่า ในปัจจุบันเราได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ทำให้เราเห็นว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่รอได้อีกต่อไปภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ปัญหา การวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่ยึดหลักความยั่งยืน (Sustainability) ความสามารถในการปรับตัว (Resilience) และการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป