เคทีซีเปิดตัวธุรกิจสินเชื่อใหม่ “เคทีซี พี่เบิ้ม” เน้นบริการครอบคลุมสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นทางเลือกคนไม่ท้อทุกอาชีพ เข้าถึงแหล่งเงินทุนแบบไม่หมกเม็ด พร้อมชู 3 จุดแข็ง วงเงินใหญ่ อนุมัติไวถึงที่ ได้รับเงินทันที ตั้งเป้าปี 2564 มีพอร์ต 1,000 ล้านบาท
ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันมีจำนวนกว่า 3,392,032 บัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างในระบบ 137,637 ล้านบาท
เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ – ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ภาพข้างต้น นำสู่จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถของเคทีซีที่มองหาโอกาสทางธุรกิจที่จะเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ให้กับบริษัทฯ
ผู้อำนวยการ – ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” เพิ่มเติมว่า สินเชื่อนี้ เป็นการสร้างทีมเล็กๆ ขึ้นมาทำงานแบบสตาร์ทอัพ เป็นการรวมตัวของพนักงาน 6 คนจากหน่วยงานหลักต่างๆ ตามแนวทาง Agile Organization
โดยตั้งเป้าหมายสร้างสินเชื่อทางเลือกใหม่ ผู้มีทรัพย์สินเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ปลอดภาระเป็นของตนเอง แต่ขาดโอกาสด้านการเงิน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมีจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เกิดเป็นแบรนด์ “เคทีซี พี่เบิ้ม” กับแนวคิด “ทางเลือกคนไม่ท้อ” และนับเป็นก้าวสำคัญของเคทีซีกับการรุกธุรกิจสินเชื่อแบบมีทะเบียนรถเป็นประกันเป็นครั้งแรก” โดยตั้งเป้าหมายสิ้นปี 2564 จะมีพอร์ตสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท”
ธิดา บุณยเลขา ผู้จัดการอาวุโส – ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ให้ข้อมูลว่า ทีมงานนำเสนอสินเชื่อก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณ 2 เดือน ปล่อยสินเชื่อได้เกือบ 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ วงเงินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 บาทต่อราย สูงสุดคือ 700,000 บาท ซึ่งลูกค้าได้รับเงินภายใน 2 ชั่วโมงหลังอนุมัติ
ธิดา กล่าวถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจว่า “เคทีซี พี่เบิ้มใช้จุดแข็งเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายของเคทีซีในการรุกตลาด โดยมุ่งเน้นให้บริการ รับสมัครและอนุมัติสินเชื่อถึงที่ หรือ พี่เบิ้ม ดิลิเวอรี่ แทนที่จะใช้โมเดลการขยายสาขาอย่างผู้ประกอบการรายอื่น
“เราสามารถทำรายการอนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้าได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือตามจุดนัดพบที่ลูกค้าสะดวก ไม่เว้นวันหยุด สำหรับระยะเริ่มแรกจะเน้นเข้าถึงสมาชิกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจะขยายไปในหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาค ควบคู่ไปกับการหาพันธมิตรธุรกิจ”