ทีซีซี –tcp
2 คำตอบทำไมถึงต้อง “ดิสทริบิวเตอร์
การเกิดขึ้นของบริษัทจัดจำหน่ายสัญชาติไทยที่ขยายฐานมาจากการเป็นเจ้าของสินค้านั้น ส่วนใหญ่จะมองเห็นตรงกันว่า เรื่องของการจัดจำหน่าย จะเข้ามาเป็นหัวใจของการทำตลาดสินค้า FMCG ทำให้บรรดายักษ์ใหญ่ในแวดวงนี้ต่างก็ขยับขายเข้ามาทำ 2 ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มทีซีซีของเจ้าสัวเจริญ และ TCP เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง
ในส่วนของกลุ่มทีซีซีนั้น คุณเจริญ ลงทุนและวางเครือข่ายการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั้ง 2 ขา คือเครื่องดื่ม และสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักต์ มีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด ทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายสินค้าในเครือไทยเบฟ และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือบีเจซี จัดจำหน่ายสินค้าประเภท FMCG โดยมีเสริมสุข เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ในการเสริมแกร่งให้กับการจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มเพื่อทะลุทะลวงเข้าสู่ร้านค้าย่อย และร้านอาหารทั้งขนาดใหญ่และเล็ก
สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ คุณเจริญ ใช้บีเจซีเป็นหัวหอกสำคัญในการรุกเข้าไปยังตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในย่าน CLMV การรุกในครั้งนี้ ยังคงใช้สูตรสำเร็จเดิมๆ นั่นคือ การเข้าไปซื้อกิจการที่มีโอกาสนำมาต่อยอดในการทำตลาดให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น อย่างการนำบีเจซี เข้าไปถือหุ้น 75% ในบริษัท ไทยคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ทำธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค – บริโภค ในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งบริษัทที่ว่านี้ ชำนาญในเรื่องของการกระจายสินค้าในประเทศแถบอินโดจีนมานาน
ไทยคอร์ป ถูกนำเข้ามาช่วยต่อยอดในการขยายฐานการทำธุรกิจเข้าไปในเวียดนาม โดยคุณเจริญ ทำคู่ขนานไปกับการเข้าไปลงทุนในตัวโรงงานผลิตแพ็กเกจจิ้งแบบขวดแก้ว เพื่อรองรับกับการตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มในเวียดนามในอนาคต โดยไทยคอร์ป ในร่างของบีเจซี จะเข้าไปทำธุรกิจจัดจำหน่ายในเวียดนาม โดยรับจัดจำหน่ายให้กับสินค้าไทยที่สนใจที่จะเข้าไปลุยตลาดเวียดนามนอกเหนือจากสินค้าในเครือของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ซึ่ง คุณเจริญ ย้ำว่า การเข้าไปทำธุรกิจจัดจำหน่ายของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับการเข้าไปลงทุนของทัพใหญ่ของเครือทีซีซี.โดยเฉพาะในตัวเบียร์ช้าง การมีระบบจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งจะเข้ามาช่วยทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายขึ้น
ไม่เพียงแค่เรื่องของการจัดจำหน่ายที่เป็นธุรกิจ “กลางน้ำ” บีเจซี ยังขยายเข้าไปทำธุรกิจ “ปลายน้ำ” คือร้านค้าปลีก ด้วยการซื้อกิจการของบิ๊กซีในบ้านเรา รวมถึงธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม ทำให้บีเจซีมีเครือข่ายค้าปลีกที่ครอบคลุมในหลายประเทศ ประกอบด้วย ในประเทศไทย มีห้างค้าปลีกในเครือรวมทุกรูปแบบมากกว่า 1,200 สาขาในภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นแกนหลัก และเชื่อมต่อกับเวียดนาม ซึ่งมีห้างเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 19 แห่ง ร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท กว่า 170 สาขา และมีโอกาสที่จะขยายได้อีกจำนวนมาก เบื้องต้นคาดว่าจะมีสาขาได้ไม่ต่ำกว่าประเทศไทยที่มีไฮเปอร์มาร์เก็ตรวม 300-400 สาขา เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดใหญ่ ขนาดประชากรมากถึง 90 ล้านคน และสาขาปัจจุบันที่บีเจซี มีอยู่ส่วนใหญ่อยู่ในโฮจิมินห์
ส่วนประเทศลาว มีร้านสะดวกซื้อเอ็มพ้อยท์ มาร์ท 23 สาขา เป็นเบอร์ 1 ในเวียงจันทน์ และแนวโน้มในการขยายสาขาได้อีกมาก โดยเฉพาะบิ๊กซี ขณะที่ประเทศกัมพูชา เตรียมนำบิ๊กซีเข้าไปเปิดให้บริการ โดยมีทำเลที่มีศักยภาพ 3-4 เมืองหลัก เช่น เสียมเรียบ พนมเปญ และบริเวณท่าเรือสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศกัมพูชา
การมีเครือข่ายร้านค้าปลีกเข้ามาอยู่ในมือ นอกจากจะเป็นการคอนโทรลได้ตลอดทั้งซัพพลายเชน สิ่งที่จะได้ตามมาอีกอย่างก็คือเรื่องของบิ๊กดาต้า ที่เป็นข้อมูลจากการซื้อจริงของผู้บริโภค ทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำไปต่อยอดการทำตลาดได้อีกมากมาย