ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ลงพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ (บ้านทุ่งจี้) จังหวัดลำปาง และการสร้างสรรค์งานหัตถ กรรมจากใยกัญชง จังหวัดเชียงใหม่ ชูคุณค่างานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์และการใช้งานที่โดนใจ คนรุ่นใหม่ รวมทั้งขยายสู่การใช้งานในรูปแบบหัตถอุตสาหกรรมได้ในอนาคต พร้อมเตรียมดันสู่การตลาดออนไลน์และการสื่อสารสร้างความนิยมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ
พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) กล่าวว่า SACICT เป็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่หลักในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ โดยการสะท้อน “คุณค่าความเป็นไทย” ผ่านงานศิลปาชีพและงานหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
ในโอกาสนี้ SACICT ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมงานศิลปาชีพ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ (บ้านทุ่งจี้) อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของการสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปาชีพให้เป็นที่รู้จักและเกิดการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น ด้วยสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาภายในโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ เมื่อปี 2540 เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่และห่างไกลจากยาเสพติด และส่งเสริมอาชีพด้านศิลปาชีพให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันภายใต้การขับเคลื่อนของโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ มีงานด้านศิลปาชีพ ทั้งงานเครื่องปั้นดินเผา ผ้าปัก ผ้าทอ และแกะสลักไม้ ภายในโครงการฯ ยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทำเซรามิก ตั้งแต่การขึ้นต้นแบบ การทำแบบพิมพ์ การเขียนลาย การขึ้นรูปทั้งแป้นหมุน การหล่อแบบ การปั้นอิสระ การเคลือบสี เป็นต้น ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา SACICT ได้มีส่วนเข้ามาสนับสนุนในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และบรรจุภัณฑ์
แต่สภาพตลาดของงานหัตถกรรมทั่วโลกปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก SACICT จึงมีแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิก ทั้งในด้านนวัตกรรมผสมผสานการออกแบบ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสีย ในขั้นตอนการผลิต และนำสิ่งของเหลือทิ้งมาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิกสมัยใหม่มีการออกแบบที่ทันสมัย ทนทานขึ้น และรองรับใช้งานที่ง่ายและหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้แค่เรื่องความสวยงาม แต่จะยกระดับการใช้ชีวิตของผู้ใช้มากขึ้นด้วย