“การปรับปรุงและเพิ่มเติมฟีเจอร์ต่างๆ ใน Bangkok Bank Mobile Banking เวอร์ชั่นใหม่นี้ ธนาคารมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและสร้างความพึงพอใจ รวมทั้งมอบประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งาน และทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ตอกย้ำความเป็นตัวจริงของธนาคารในฐานะ ผู้ให้บริการด้านโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking Provider) ที่สามารถตอบโจทย์การทำธุรกรรมการเงินผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งกลายเป็นความต้องการและเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตของลูกค้าในยุคปัจจุบันได้อย่างรอบด้าน”
นางปรัศนี กล่าวว่า Bangkok Bank Mobile Banking เวอร์ชั่นใหม่ จะสอดรับกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ New Normal ซึ่งเป็นสังคมที่ผู้คนมีความคุ้นชินกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันผ่านระบบออนไลน์ และเริ่มมีพฤติกรรม Mobile First อย่างชัดเจน โดยพฤติกรรมนี้ได้ขยายวงกว้างขึ้นตามความสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ขณะเดียวกันโมบายแบงก์กิ้งจะกลายเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกรรมและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคารตลอดจนกลุ่มพันธมิตรของธนาคาร
“ข้อมูลช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้าอย่างชัดเจน โดยตัวเลขผู้ใช้งาน Mobile Banking ของธนาคารกรุงเทพเติบโตขึ้นประมาณ 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันปริมาณธุรกรรมการโอนเงินและการจ่ายบิลผ่าน Mobile Banking ก็เติบโตขึ้นถึง 51% และ 47% ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าลูกค้าเริ่มคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking มากขึ้น รวมถึงยังมีปัจจัยสถานการณ์เรื่องโรคโควิด-19 มาเป็นตัวเร่ง เช่น ความกังวลเรื่องการใช้เงินสด การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และชำระเงินผ่าน Mobile Banking แทน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ตลอดจนมาตรการเยียวยา 5,000 บาทของภาครัฐ ที่ลูกค้าจำนวนมากลงทะเบียนสมัครใช้บัญชีธนาคารกรุงเทพเป็นบัญชีพร้อมเพย์เพื่อใช้รับเงินดังกล่าว”
นางปรัศนี กล่าวอีกว่าธนาคารกรุงเทพยังวางกลยุทธ์สำคัญในปีนี้ โดยเฉพาะแผนการลงทุนด้านไอทีและระบบงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านดิจิทัล มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านระบบชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Payment Solution) ที่ครอบคลุมการใช้งานหลากหลายรูปแบบตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ทั้งในฝั่งผู้รับชำระเงิน และผู้จ่ายเงิน รวมถึงการเปิดตัวโมบายแบงก์กิ้งเวอร์ชั่นใหม่ครั้งนี้ เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น การเปิดบัญชีผ่านออนไลน์โดยยืนยันตัวตนผ่านระบบ National Digital ID Platform ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. แล้ว โดยทั้งหมดนี้มีหน่วยงานไอทีดูแลเรื่องระบบการทำธุรกรรมการเงินโดยเฉพาะ พร้อมมีแผนเชิงปฏิบัติและทำการทดสอบระบบ เพื่อให้การทำธุรกรรมไม่สะดุด โดยเชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้จะมียอดผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านรายได้ตามเป้าหมาย จากปัจจุบันอยู่ที่ 8.6 ล้านราย