คุณสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ดิจิตอล ทีวี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด เปิดเผยถึงปัจจัยความสำเร็จครั้งนี้ว่า การที่ GMM 25 เป็น Late Comer ในตลาด ในขณะที่ช่องอื่นวิ่งนำไปก่อนหน้านี้แล้ว ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างแบรนด์ของช่อง GMM 25 ขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่รู้จักท่ามกลางช่องต่างๆ มากมาย โดยอาศัยประสบการณ์จากการทำสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะวิทยุในหลายๆ มิติเข้ามาต่อยอดกระทั่งกลายเป็นจุดแข็งของช่อง
“เราวิเคราะห์กันว่า ช่องอื่นทั่วไปคงมุ่งไปที่แมส เป็นเรื่องปกติของสื่อนี้ที่จะต้องมุ่งไปที่แมส เพื่อกอบโกยคนให้ได้มากที่สุด นี่คือกลยุทธ์หลักที่ทุกช่องทำ แต่ด้วยความที่ GMM 25 เป็นช่องน้องใหม่ เรามองว่าถ้าเราไม่มีจุดยืนที่แข็งแรง หรือไม่มีตัวตนที่ชัดเจน คงเป็นเรื่องยากที่จะฟันฝ่าให้เป็นแบรนด์ที่ทุกคนรู้จักได้ โจทย์นี้ทำให้เรามาวิเคราะห์ตัวเองกันใหม่ เพื่อหาแนวทาง จนได้ข้อสรุปว่าเราคงไม่มุ่งไปสู่ในตลาดเดียวกันกับที่ทุกคนเขาอยู่กัน”
กล่าวคือ GMM 25 เริ่มจากการเลือกกลุ่ม Audience ที่มีอายุระหว่าง 15-34 ปี เป็น Core Target โดยอาศัย พื้นฐานจากการอยู่ในสื่อวิทยุซึ่งจับกลุ่มคนเดียวกันมาก่อน จึงมีข้อมูลการวิจัย และมีความเข้าใจถึงพฤติกรรม รสนิยม และไลฟ์สไตล์แบบไหน นอกจากนี้ยังเลือกที่จะเจาะกลุ่ม Audience ตามไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และ Young at Heart จากนั้นจึงนำมาวางเป็น Positioning ของทีวีช่อง GMM 25 ในฐานะไลฟ์สไตล์ทีวี แล้วนำมาแปลงเป็นคอนเทนต์ในช่อง เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ โดยปัจจุบัน Content ของช่องแบ่งเป็น ข่าวสารสาระ/เด็กและเยาวชน 30% วาไรตี้บันเทิง 50% ละคร,ซีรีส์ 20%
แน่นอนว่า GMM 25 ยังได้นำต้นทุนการทำวิทยุมาทำให้รายการต่างๆ มีคาแร็กเตอร์ที่ Unique จากตลาดอย่างเห็นได้ชัดอีกเช่นกัน
“วิทยุและโทรทัศน์เป็นมีเดียเหมือนกัน แต่สิ่งที่วิทยุแตกต่างคือ มีความใกล้ชิดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างดีเจหรือผู้ผลิตกับคนฟังมากกว่าโทรทัศน์ พอวันหนึ่งเรา Diversify ธุรกิจมาทำทีวี เราจึงพยายามทำให้ช่อง GMM 25 ให้มีความใกล้เคียงกับวิทยุ โดยจับศาสตร์วิทยุที่มี Relationship Marketing สูงแปรรูปมาอยู่ในทีวี ด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับคนดู และทำให้เกิดเป็นแบรนด์ลอยัลตี้ ช่อง GMM 25 เป็นช่องเดียวที่ขอละครได้ด้วย เหมือนขอเพลงในวิทยุ เช่น ดูคลับฟรายเดย์เรื่องนี้จบชอบจัง อยากดูต่อ เราสามารถตอบโจทย์กลุ่มนี้ด้วยการนำเอาเรื่องที่ชอบมาทำละครคลับฟรายเดย์ ทูบี คอนทินิว จนกลายเป็น Perception ของคนดูว่า ถ้าคลับฟรายเดย์ เดอะ ซีรีส์เรื่องไหนสนุก สามารถขอให้ทำเป็น คลับฟรายเดย์ ทูบีคอนทินิวได้ด้วย”
คุณสายทิพย์ กล่าวถึงจุดต่างคอนเทนต์ GMM 25 เมื่อเทียบกับเจ้าอื่นแล้ว คอนเทนต์ของ GMM 25 จะค่อนข้าง Real หรือมีความเป็นชีวิตจริงอยู่สูง ยกตัวอย่าง ละครคลับฟรายเดย์ซีรีส์ Base on True Story ที่มีความเป็น Emotional ส่งผลให้เกิดการพูดคุย วิเคราะห์วิพากษ์ จากปากต่อปากกลายเป็นกระแส Talk of the Town ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้ช่อง GMM 25 เป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว
เมื่อ GMM 25 สามารถสร้างอะแวร์เนสให้เกิดกับช่องได้แล้ว ต่อมาจึงต่อยอดการสร้างแบรนดิ้งคอนเทนต์ โดยเฉพาะคอนเทนต์ Flagship อย่าง คลับฟรายเดย์ เดอะ ซีรีส์ ที่มีเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มาต่อยอดเป็นคอนเทนต์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ คลับฟรายเดย์ ทูบี คอนทินิว และคลับฟรายเดย์ โชว์ Base on Celeb Story ซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกับการทำวิทยุ ซึ่งต่อยอดจากรายการทางวิทยุทุกวันศุกร์ มาเป็นหนังสือ มิวสิควิดีโอ และคอนเสิร์ต