ทำงานแบบออนไลน์ – ไลฟ์สตรีมมิ่งคึกคัก
ด้วยมาตรการระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) ทำให้รูปแบบการจัดกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือเผยแพร่ข่าวสาร โดยเฉพาะในลักษณะ Face-to-Face รวมทั้งการรวมกลุ่มคนจำนวนมากนั้นทำได้ยากขึ้น ดังนั้นรูปแบบของการรับข่าวสาร หรือการเข้าถึงข่าวสารและแหล่งข่าวของสื่อมวลชนในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 83 ยังคงมาจากข่าวประชาสัมพันธ์ที่แบรนด์หรือพีอาร์ส่งให้ รองลองมาร้อยละ 77 เป็นการเข้าร่วมงานแถลงข่าวหรือการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ (Live Streaming) สัมภาษณ์แหล่งข่าวทางโทรศัพท์ร้อยละ 69 และสัมภาษณ์แหล่งข่าวผ่านสื่อออนไลน์ร้อยละ 60 โดยมีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ที่ยังคงเข้าร่วมงานอีเว้นท์หรือแถลงข่าวทั่วไปเป็นปกติ
เนื่องจากการรักษาระยะห่างและการเข้าถึงแหล่งข่าวที่ยากขึ้น ทำให้สื่อมวลชนเปิดกว้างในการเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะ Live streaming / Virtual Event หรือการแถลงข่าวแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นรูปแบบใหม่ของการจัดงาน แต่ก็มีสื่อมวลชนตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมรูปแบบนี้มากถึงร้อยละ 78 โดยจากการสอบถามจำนวนครั้งของการร่วมงาน ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่ามีการเข้าร่วมงานในรูปแบบ Live streaming มากกว่า 6 ครั้ง และ เข้าร่วม 4-6 ครั้ง ในอัตราส่วนที่เท่ากันคือร้อยละ 36 เข้าร่วม 2 – 3 ครั้ง จำนวนร้อยละ 24
แถลงข่าว Live Streaming ไม่ใช่ปัญหา แต่ผู้บริหารและพีอาร์ต้องเตรียมพร้อมเสมอ
จากผลสำรวจ พบว่า รูปแบบการจัดงาน Live streaming มีแนวโน้มได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยด้านการเว้นระยะห่าง แต่อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ ผู้บริหาร พีอาร์ หรือฝ่ายสื่อสารองค์กรในการทำงาน สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดงานลักษณะ Live Streaming ในอนาคต โดยมีมุมมองที่น่าสนใจ ได้แก่
ข้อมูลเอกสาร (Press Kit) อาทิ ข่าวประชาสัมพันธ์ ภาพประกอบที่ช่วยสนับสนุนเนื้อหา ควรจัดส่งให้แก่สื่อมวลชนก่อนเริ่มงาน หรือจัดทำระบบสแกน QR Code เพื่อรับเอกสาร ระหว่างการแถลงข่าวได้
เนื่องจากบางแพลตฟอร์มของการ Live Streaming หรือประชุมออนไลน์ อาจมีข้อกัดด้านเวลา ดังนั้น พีอาร์ควรมีการซักซ้อมประเด็นในการแถลงข่าวให้กับผู้บริหาร ควรจัดทำเนื้อหาให้เข้าใจง่าย สั้นกระชับ และตรงประเด็น
ระหว่างการ Live Streaming ภาพที่ถ่ายทอดออกไปไม่ควรเป็นภาพผู้แถลงข่าวเพียงมุมเดียว ควรแสดงให้เห็นภาพบรรยากาศ หรือมีสไลด์เนื้อหาประกอบระหว่างการแถลงข่าวด้วย
ควรเผื่อเวลาให้สำหรับช่วงถาม-ตอบ (Q & A) อย่างน้อย 15-30 นาที
ในบางแพลตฟอร์มที่แก้ปัญหาเรื่องเสียงรบกวนได้ยาก ผู้จัดงานควรรวบรวมแนวคำถามจากสื่อมวลชน พร้อมคัดกรองก่อนล่วงหน้า และส่งให้ผู้ดำเนินรายการเป็นผู้ถามเพียงท่านเดียว เพื่อความกระชับในการตอบคำถาม