ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่คนทั่วโลกต้องต่อสู้กับวิกฤตไวรัส COVID-19 ซึ่งหนึ่งในมาตรการการสกัดการระบาดที่ได้ผลก็คือ การกักตัวอยู่บ้าน ลดการเดินทาง ซึ่งทำให้ 3 เดือนที่ผ่านมาเกิดเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า Work From Home ขึ้นทั่วโลก
การเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลกระทบในทางบวกอย่างมากกับธุรกิจโซเชียลมีเดีย เพราะมีจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้น รวมถึงมีระยะเวลาการใช้งานต่อวันที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ใช้งานแอพในเครือของ Facebook หนึ่งแอพเป็นอย่างน้อยมากกว่า 3 พันล้านคนต่อเดือน โดยมีผู้ใช้งาน Facebook มากกว่า 2.6 พันล้านคนต่อเดือน และมีผู้ใช้งานมากกว่า 1.73 พันล้านคนต่อวันบนแพลตฟอร์ม โดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ใช้งาน Facebook, WhatsApp, Instagram หรือ Messenger อย่างน้อย 1แอพ มากกว่า 2.3 พันล้านคนในแต่ละวัน และมีผู้ใช้งาน Instagram มากกว่า 1 พันล้านคนต่อเดือน
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Facebook มากกว่า 58 ล้านคนต่อเดือน มีผู้ใช้งานที่เข้า Facebook ผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่า 58 ล้านคนต่อเดือน มีผู้ใช้งาน Facebook มากกว่า 43 ล้านคนต่อวัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก
ล่าสุด Facebook ประเทศไทยได้มีการสรุปเทรนด์ของผู้ใช้งานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สำคัญไว้ 3 เรื่อง คือ
1. Facebook Group
Facebook Group ต่างจาก Facebook Page อย่างไร
Facebook Page ถูกออกแบบมาเพื่อให้บุคคล ธุรกิจ องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ได้แสดงคอนเทนต์ ของตนเองที่ต้องการสื่อสารไปสู่สาธารณะ คนโพสต์คือ เจ้าของเพจ หรือแอดมิน
ขณะที่ Facebook Group ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพื้นที่เล็กๆ ของผู้คนที่มีความชอบ สนใจในสิ่งเดียวกันเข้ามาร่วมกลุ่ม เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่สนใจร่วมกัน และมีการเปิดให้สมาชิกโพสต์เนื้อหา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับแนวทางของกลุ่มนั้นๆ ได้ โดยมีแอดมิน หรือผู้ตั้งกลุ่มเป็นคนบริหารจัดการความเรียบร้อยของ Community
การเกิดขึ้นของ Facebook Group หรือกลุ่มเฉพาะกิจที่มีมากขึ้น โดยปัจจุบันนี้มากกว่า 45 ล้านคนในประเทศไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ บน Facebook และมีจำนวนกว่า 6 ล้านกลุ่มที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างต่อ เนื่องในเดือนที่ผ่านมา
ตัวอย่างกลุ่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาก็คือ กลุ่มฝากร้านของสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน, KU ฝากร้าน ฯลฯ
ปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งและแอดมินกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส กล่าวว่า “ในมาร์เก็ตเพลสแห่งนี้ ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ในช่วงเวลาที่เราต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การมีพื้นที่เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้นจึงมีความสำคัญ จากการสร้างธีมหรือหัวข้อให้กับแต่ละหมวดหมู่สินค้า ทำให้เราพบเห็นการมีส่วนร่วมกับผู้ขายมากขึ้น และช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook เปิดโอกาสให้เราได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านโลกออนไลน์ และยังช่วยให้เราสามารถอยู่รอดและฟื้นฟูธุรกิจของเราในช่วงเวลานี้ได้อีกด้วย”